+++ตามต่อหลังจากที่รัฐบาล ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ใน 4 มาตรา มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับไปดำเนินการเข้าระบบอย่างถูกต้อง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2560 ถึง 1 ม.ค.2561 พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีทุกกรม และผู้บริหารกระทรวง พร้อมทั้งมอบหมายให้ นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) แถลงในรายละเอียดของมาตรการต่างๆ และกระทรวงแรงงาน เชิญหน่วยงานต่างๆ ร่วมเสวนาเกี่ยวกับเหตุผลการออก พ.ร.ก. บทลงโทษ ผลกระทบ และมาตรการบรรเทาผลกระทบ จาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
+++อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายว่าประมาณการว่าไม่เกิน 1 ล้านคน หลังจากนี้ มาตรการที่จะดำเนินการเป็นมาตรการแรก คือ การเปลี่ยนนายจ้างในใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้แรงงานที่มีความผิดจากการเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นแรงงานถูกกฎหมาย จากตัวเลข 11 วัน มีนายจ้างพาแรงงานมาเปลี่ยนทั้งหมด 8,000 ราย
+++สำหรับมาตรการรองรับ แรงงานประเภทที่ 3 แรงงานผิดกฎหมายมี 2 ทางเลือก 1.มาตรการ MOU นายจ้างส่งกลับบ้านแล้วไปทำเรื่องขอกลับเข้ามาใหม่ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทางการไทยใช้เวลา 15 วัน ส่วนเวลาที่เหลือขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง 2. พิสูจน์ทราบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเจรจากับทางเมียนมาแล้ว ทางการไทยจะทำการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ และส่งให้ทางการเมียนมา หลังจากนั้นเมียนมาจะออกใบรับรองสัญชาติ ซึ่งสามารถใช้ขอใบอนุญาตเข้าเมืองและใบอนุญาตทำงานได้ 2 ปี เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการมาตรการทั้งหมดเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบภายใน 31 มี.ค. 2561
+++กรณีเรียกรับผลประโยชน์ เส้นทางแม่สอด จ.ตาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งให้ตรวจสอบแล้ว และต้องมีมาตรการลงโทษหากกระทำผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง ถ้ามีการเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ยอมทั้งสิ้น ต้องลงโทษสถานหนัก
+++ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมสนช.จะพิจารณาพ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จำนวน 145 มาตรา โดยสนช.ไม่มีอำนาจแก้ไขเนื้อหาในพ.ร.ก. แต่สนช.มีเพียงอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น หากที่ประชุมสนช.มีมติเกินกึ่งหนึ่งไม่เห็นชอบจะมีผลให้พ.ร.ก.ดังกล่าวตกไป แต่หากให้ความเห็นชอบจะมีผลให้พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวเป็นพ.ร.บ.ทันที
+++นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนค่อนข้างพอใจกับแนวทางใช้ตามมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปเป็น 6 เดือน หรือ 180 วัน จากเดิม 120 วัน เพราะช่วยให้แรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวในการนำแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีส่วนช่วยให้ไทยอาจหลุดจากประเทศที่ถูกสหรัฐจับตามองพิเศษ (เทียร์ 2) ได้เร็วขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 1 ล้านคน
+++ส่วนเรื่องการประเมินผลการทำประมงผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 3-14 ก.ค.คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ผู้ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทยทั้งระบบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูล เตรียมความพร้อมรายงานทุกสถานการณ์ เนื่องจากการเข้ามาของอียูครั้งนี้จะเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าทุกครั้ง โดยประเด็นที่เน้นย้ำ คือ การมุ่งเน้นตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเรือ การควบคุมเรือประมง รวมทั้งเรือประเภทอื่นที่มีส่วนสนับสนุนเรือประมง อาทิ เรือบรรทุกน้ำมันกลางมหาสมุทร เรือบรรทุกน้ำแข็ง
+++สำหรับกำหนดการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนอียู วันที่ 5 ก.ค. จะประชุมหารือหัวข้อการบังคับใช้กฎหมาย วันที่ 10-12 ก.ค. กำหนดการประชุมหารือด้านเทคนิคการแก้ไขปัญหาไอยูยู วันที่ 13 ก.ค. ประชุมเพื่อสรุปผลด้านเทคนิคการแก้ไขปัญหาไอยูยู และในวันที่ 14 ก.ค. จะมีการประชุมหารือระดับหัวหน้าคณะผู้แทน รวมถึงเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
+++เรื่องการปฎิรูปตำรวจ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ให้พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ
มีข้าราชการตามตำแหน่ง 5 คน และมีคณะกรรมการอีก 30 คน มีเวลาทำงาน 9 เดือน เริ่มทำงานทันที พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เมื่อได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้ก็ต้องทำเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังมานานและไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเวลาแค่ 10 เดือน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่เห็นๆ กันอยู่ ส่วนที่เกิดความสงสัยว่าทำไมจึงให้ทหารมาปฏิรูปตำรวจนั้น ขอตอบว่าการปฏิรูปส่วนใหญ่เขาก็ไม่เอาตำรวจมาปฏิรูปตำรวจหรอก ถ้าเอาตำรวจมาปฏิรูปตำรวจจะเป็นอย่างไร ยืนยันจะหารือและรับฟังความเห็นจากตำรวจและหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งความคิดเห็นของประชาชนด้วย
+++การตรวจสอบการทุจริตงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หรือทุจริตเงินทอน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ย่านฝั่งธนบุรี หลังพบข้อมูลว่าได้รับเงินอุดหนุนจาก พศ.ตั้งแต่ปี 2555 รวมกว่า 30 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบูรณปฏิสังขรณ์ศูนย์ปฏิบัติธรรม และงบสนับสนุนเผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการโอนเงินคืนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ พศ. บางคนหรือไม่ รวมถึงต้องตรวจสอบ การเบิกจ่ายงบนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่เบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติอย่างชัดเจน
+++นอกจากนี้ ตำรวจปปป. พบเส้นทางการเงินโอนมาจาก พศ.อย่างผิดปกติ เบื้องต้นมี 4 วัด ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 3 วัด คือ วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดบำเพ็ญเหนือ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ส่วนอีก 1 วัด คือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
+++การออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องในคดีการหลบเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรู รวม 16 หมายเรียก ทั้งนิติบุคคลและบุคคล พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ได้รับการประสานจากกรมศุลกากรว่า จะส่งข้อมูลการประเมินภาษีขาดของรถยนต์ที่หลบเลี่ยงภาษีมาให้ดีเอสไออีกประมาณ 300 คัน ดีเอสไอจะนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบสำนวนและดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
+++สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ถูกดีเอสไอออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหารายอื่นๆ รวมถึงนายภาณุศักดิ์ หรือนายอินทระศักดิ์ เตชธีรสิริ หรือบอย ยูนิตี้ มีกำหนดเข้าพบพนักงานสอบสวนวันที่ 6 ก.ค.นี้ แต่ทนายความได้ติดต่อมายังพนักงานสอบสวน เพื่อขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
+++ส่วนการแอบอ้างยื่นเอกสารเท็จประมูลรถขายทอดตลาดของกรมการขนส่งทหารบก(ขส.ทบ.) วันนี้ ขส.ทบ.จะนำหลักฐานรถที่นำเข้าประมูลทั้งหมด 1,300 กว่าคันมาให้ดีเอสไอรับไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษเพื่อสอบสวนขบวนการนำรถผิดกฎหมายเข้าไปฟอกผ่านการประมูลรถยนต์ของหน่วยงานราชการ โดยแนวทางการสอบสวนคือ ตรวจสอบที่มาของรถว่าเป็นรถจดประกอบ นำเข้าผิดกฎหมายหรือเป็นรถสำแดงเอกสารใบอินวอยซ์เท็จ หรือรถที่ถูกลักลอบนำออกมาจากเขตฟรีโซน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ต้นสังกัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแล้ว
แฟ้มภาพ