มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดแรก ซึ่งเป็นวาระการเลือกตำแหน่งประธาน รองประธานและตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งวางกรอบในการพิจารณา เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ที่ประชุมมติแต่งตั้งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นประธานกรรมาธิการ จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุม โดยนายสุรชัย ประธานกรรมาธิการร่วม ได้แจ้งถึงข้อโต้แย้งของกกต.ทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1 การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหา กกต. 2. การกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3. กกต. คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้ 4. กกต. มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. กกต. มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ และ6. กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง หรือการเซตซีโร โดยจะเป็นการพิจารณารายประเด็น
นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงภายหลังการประชุมโดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อโต้แย้งของกกต.ใน 6 ประเด็น และมีมติเสียงส่วนใหญ่คือ 9 ต่อ 1 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกมธ.งดออกเสียง เห็นว่า ทั้ง 6 ประเด็นที่กกต.แย้งมา ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีเพียงนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่ไม่เห็นด้วยและขอสงวนความเห็นไว้ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ก.ค. กมธ.ร่วม จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อตรวจรายละเอียดอีกครั้งก่อนเสนอประธานสนช. เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสนช. ซึ่งคาดว่าเข้าที่ประชุมได้ในวันที่ 13 ก.ค.หรือวันที่ 14 ก.ค. เชื่อว่าสมาชิกสนช.จะโหวตผ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสนช.หรือหากจะคว่ำร่าง ก็ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช.แต่เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะคว่ำร่างฯ เพราะสนช.เป็นผู้เห็นชอบร่างกฎหมายเอง และกมธ.ร่วมฯ ไม่มีการแก้ไขอะไรเลย หากจะคว่ำก็ต้องตอบกับสังคมให้ได้ว่าเพราะอะไร แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น สมมติว่าเกิดมีการคว่ำร่างขึ้นมา ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)จะเป็นผู้ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ คงใช้เวลาไม่นาน เพราะใช้ร่างเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการยื้อโรดแม็พเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบจะมีการตั้งกมธ.ร่วมพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ แต่ก็เชื่อว่าการพิจารณายังอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือนที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและตามโรดแม็พ.