เร่งออกวันนี้ ม.44 ผ่อนผัน 4มาตราพรก.แรงงานต่างด้าว กำชับ ก.แรงงานทบทวนผลกระทบ

04 กรกฎาคม 2560, 16:44น.


หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560  หลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ตาม พ.ร.ก ฉบับนี้ ที่มีทั้งสิ้น 145 มาตรา โดยต้องใช้เวลาพิจารณากว่า 6 เดือน ประกอบกับอยู่ในสถานการณ์ที่บีบรัด จึงจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก สาระคือ ในประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานจำนวนมาก แบ่งเป็นส่วนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ส่วนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย แต่ไม่ปฏิบัติตามใบอนุญาต จึงต้องเข้ามาดำเนินการทำเรื่องที่สำนักงานจัดหางาน จึงกลายเป็นเรื่องงานต่างด้าวถูกกฎหมาย และส่วนแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย  ไม่มีหนังสือเดินทาง วีซ่าหรือเอกสารใด ซึ่งตาม พ.ร.ก นี้ได้ระบุว่า นายจ้างทุกประเภทที่จ้างแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะจ้างงานในลักษณะใดก็ตาม ที่จ้างแรงงานกลุ่มที่ 3 ที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิกกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อลูกจ้าง1 คน ส่วนลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว ก็จะได้รับโทษเช่นกัน แต่จะน้อยกว่านายจ้าง



ทั้งนี้ เมื่อ พ.ร.ก. ประกาศใช้เกิดเป็นการไล่จับแรงงานต่างด้าว และแรงงานบางส่วนก็หนีกลับประเทศเพื่อไปทำหนังสือเดินทาง ขณะที่นายจ้างเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในวันนี้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งตามมาตรา 44 ยืดระยะเวลาการประกาศใช้ 4 มาตรา ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกอบด้วย 101 102 119 122 ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน และทั้ง 4 มาตราที่ประกาศยืดระยะเวลานี้จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2561 คาดว่า จะมีการออกคำสั่งมาตรา 44 ในวันนีั โดยระหว่างนี้จะไม่ดำเนินการจับหรือปรับ และ ผ่อนผันการเข้าออกเมืองของแรงงานต่างด้าว พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการรีดไถ่เกิดขึ้น รวมถึงระวังสกัดกั้นแรงงานใหม่ที่จะเข้ามา  โดยในระหว่างนี้ให้ทางกระทรวงแรงงานไปทบทวน ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก ฉบับนี้ เป็นระยะเวลา 4 เดือน และให้รัฐบาลใช้เวลาการพิจารณาอีก 2 เดือน



ด้านนายพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะมีประกาศ ให้นายจ้างที่สงสัยว่าลูกจ้างแรงงานต่างด้าวของตนเองถูกกฎหมายหรือไม่ ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการบุคคลที่มีรายงานให้มีขั้นตอนการติดต่อที่กระชับขึ้น รวมทั้งกำชับกับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานไม่ให้แสวงผลประโยชน์จาก แรงงานที่มีอยู่ รวมถึงมีการทบทวนระเบียบพ.ร.ก. ที่มีอยู่ว่าจะต้องเพิ่มเติมหรือปรับปรุงอะไรหรือไม่ซึ่งประกาศจากทางกระทรวงแรงงานจะออกมาภายหลังมีประกาศของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ



ด้านพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในวันนี้ ได้มีคำสั่งมาตรา 44 เรื่องการยืดระยะเวลาการแจ้งพื้นที่รุกล้ำลำน้ำ ตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือน่านน้ำไทย จากเดิมที่ ประชาชน มีพื้นที่รุกล้ำลำน้ำ จะครบกำหนดสิ้นสุดแจ้ง วันที่ 23 มิถุนายน ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 60 วัน โดยระหว่างนี้จะไม่มีการปรับหรือดำเนินคดีกับผู้ที่เข้ามาแจ้ง และ เปิดโอกาสให้ผู้แจ้งหาหลักฐานการเข้า อยู่ในพื้นที่ออก 180 วัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการพิจารณาว่าพื้นที่ที่มีการแจ้งนั้นรุกล้ำลำน้ำตามกฏหมายหรือไม่เป็นระยะเวลา 180 วัน

ข่าวทั้งหมด

X