หลังศาลพิพากษาจำคุกนายอัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล หรือ น็อต กราบรถ อดีตพิธีกรรายการชื่อดัง ผู้กระทำผิดในคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก1 ปี รอลงอาญา โดยกำหนดเงื่อนไข ให้นายอัครณัฐจะต้อง ให้บริการสังคมอีก 24 ชั่วโมง และต้องเข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ4 ครั้ง วันนี้นายอัครณัฐเดินทางเข้ารับทราบเงื่อนไขการคุมประพฤติและการทำงานบริการสังคมตามคำสั่งศาล ต่อพันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ
ภายหลังรับทราบเงื่อนไขนายอัครณัฐ กล่าวว่า หลังจากนี้จะใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้นและอนาคตคิดว่าตัวเองสามารถเป็นตัวอย่างให้เยาวชนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก พร้อมขอบคุณศาลและอธิบดีกรมคุมประพฤติ ที่เมตตาและเล็งเห็นความสามารถของตัวเอง ในการดำเนินการถ่ายทอดประสบการณ์ให้สังคม โดยเร็วๆนี้จะมีโครงการที่ดำเนินการผ่านทางสื่อต่างๆ เพื่อสร้างสรรสังคมต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายเรียกร้องเงินประกัน ยืนยันว่า ในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองแล้ว เป็นการเจรจาระหว่างบริษัทประกันและคู่กรณีซึ่งส่วนตัวได้เจรจากับแม่ผู้เสียหายตั้งแต่วันที่มีการนัดไกล่เกลี่ยแล้ว โดยนายอัครณัฐยังยืนยันตามเดิมว่าหากแม่หรือผู้เสียหาย ต้องการเงินชดเชย ขอให้แจ้ง
ด้านอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า การควบคุมประพฤติของนายอัครณัฐ เป็นการให้โอกาสผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษจำคุก แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติและปฏิบัติตามเงื่อนไขการที่ศาลกำหนด และด้วยอำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติพ. ศ. 2559 ระบุไว้ว่า พนักงานคุมประพฤติสามารถจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมได้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากฐานความผิดเงื่อนไขหรือคำสั่งศาล และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และในกรณีดังกล่าวกรมคุมพฤติกำหนดให้ นายอัครณัฐ ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สังคมลดการใช้ความรุนแรง เมื่อเผชิญปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากปัญหาการจราจร การควบคุมอารมณ์ และการให้อภัย อาจให้พูดสอดแทรกในรายการของตัวเองเท่าที่ทำได้ หรือให้มาบรรยายประสบการณ์จริงเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆที่กรมคุมประพฤติจะกำหนดต่อไป ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการเฝ้าติดตามของเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติตลอด
สำหรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนดเกี่ยวกับการคุมประพฤติ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ศาลไม่ได้มีข้อกำหนดใดๆเป็นพิเศษแต่ นายอัครณัฐจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเร้า หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่เข้าสถานบริการยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆ อีก อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีความเข้าใจระบบงานคุมประพฤติน้อย แม้ศาลจะสั่งจำคุก และมีโทษให้รอลงอาญา และมารายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติปีละ 3-4 ครั้ง ซึ่งตามข้อเท็จจริงผู้ถูกคุมความประพฤติเปรียบเหมือนผู้ถูกภาคทัณฑ์และคาดโทษเอาไว้ ดังนั้นคนเหล่านี้จะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หากผิดเงื่อนไขก็จะรายงานศาลทันที และอาจทำให้ได้รับโทษมากขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ
CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมคุมประพฤติ