ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ที่ใกล้เข้าสู่สภาวะฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี และป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยึดการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทั่วประเทศ พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมทั้งสิ้น 41,974 ล้านบูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างทั้งหมด ซึ่งถือว่ามากกว่าปี 2559
สำหรับสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง และสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังพบว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนลดน้อยลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ลดลงตามไปด้วย ทำให้น้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ตอนบนบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน - 2 กรกฎาคมนี้ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์สภาพอากาศว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีฝนน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่อับฝน ในด้านหลังเขาและพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ส่วนในพื้นที่ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงมีฝนตกกระจายอยู่ แต่อยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้การใช้น้ำจาก 3 เขื่อนหลัก เพิ่มมากขึ้นไปอีก จนถึงเดือนกรกฎาคม จนกระทั่งเกิดฝนตกชุก จึงจะเริ่มลดการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้
พื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ พื้นที่เขื่อนลำตะคอง ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก อาจจะไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จึงได้ประสานกับกรมฝนหลวง ให้ทำฝนในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้
ส่วนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำในเขื่อนมีปริมาณมาก จึงได้ให้เกษตรกรพื้นที่รับน้ำเพาะปลูกในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อถึงฤดูฝนตกหนัก จะตรงกับช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวพอดี เกษตรกรจะไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข