รองนายกฯหารือพศ.เงินทอนวัด/ย้ายหมอชิต กลับที่เดิม/กลต.สอบหุ้นABCครูอ้อย

23 มิถุนายน 2560, 07:58น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30  น.



+++ปัญหาทุจริตเงินอุดหนุนวัด ในวันนี้   นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนามาหารือ นายวิษณุ   กล่าวว่า สาเหตุที่เรียกพบเพราะเรื่องนี้ดูเหมือนจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องการสอบถามสิ่งที่เกิดขึ้นว่าได้ทำอะไรไปแล้วและจะทำอะไรต่อไปหรืออาจต้องแนะนำอะไรบางอย่าง ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการทางปกครองเรียกทรัพย์สินจากผู้ทุจริตคืนหรือไม่ จะต้องขอหารือกันก่อน และอย่าเพิ่งพูดไป



+++นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยความคืบหน้าคดีทุจริตเงินอุดหนุนวัด หลังจากได้รับสำนวนจากกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รวม 12 สำนวนว่า ขณะนี้ฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช. เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว 7 สำนวนแรก เพื่อพิจารณาว่า จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้เลยหรือไม่ และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไม่ทันในวันนี้ จะนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ส่วนที่เหลืออีก 5 สำนวนนั้น อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง



++++ขณะเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวนข้อมูลเบื้องต้นพบอีกอย่างน้อย 60-70 สำนวน จาก 60-70 วัด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สตูล มีลักษณะเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำความผิดด้วย โดยใช้โมเดลเดียวกัน โอนเงินเกินแล้วมาเรียกเงินคืนหรือเงินทอน ซึ่งเป็นข้อมูลจากการขยายผลจับกุม ผอ.สำนักพุทธศาสนา จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2558 ส่วนความเสียหายเท่าที่ทราบขณะนี้ประมาณกว่า 90 ล้านบาท



+++นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนสำนวนการทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ 12 วัด รวม 12 คดี ว่า กำลังขอสำนวนจาก ป.ป.ช.มาดูว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องของฆราวาส สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) เปรยว่า เป็นห่วงเรื่องพระพุทธศาสนา จึงบอกไปว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ให้กระทบกระเทือนพระพุทธศาสนา



+++ ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดนายกรัฐมนตรีในการฟื้นการประชุมครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือครม.สัญจร ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้ประชุม ครม.สัญจร ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้สั่งการให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ ซึ่งได้เน้นย้ำว่า การลงพื้นที่ไม่ใช่ไปสร้างคะแนนเสียง เพราะเราไม่ต้องการเล่นการเมืองในอนาคต แต่ต้องการลงไปรับฟังทุกข์สุขของประชาชนจากปากของเขาเอง เบื้องต้นกำหนดไว้ใน 6พื้นที่ คือ เหนือ กลาง อีสาน ใต้ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ถ้ามีโอกาสเวลาเหมาะสมอาขยายถึง18กลุ่มจังหวัดด้วย



++++ย้ายหมอชิต 2 กลับที่เก่า  วันนี้ จะมีการประชุมร่วมกันอีกรอบ ขณะที่  ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ประธานหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต และทีมวิจัยการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แนะนำว่า  การกำหนดนโยบายของภาครัฐในการสร้าง ย้าย หรือพัฒนา ควรพิจารณาและหาทางแก้ไขเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน ประกอบด้วย 5 ข้อ คือ ความคุ้มค่าในการลงทุนศึกษาและพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร/.ความสอดคล้องในการวางแผนแม่บทการขนส่งและแผนการพัฒนาเมือง การวางแผนสถานีขนส่งผู้โดยสารควรพิจารณาถึงตำแหน่ง ทำเลที่ตั้ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานคร เส้นทางรถ ขสมก. และเส้นทางรถตู้โดยสารสาธารณะได้ง่าย/ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สถานีขนส่ง โดยเฉพาะทางเข้าและออกสถานีขนส่ง ควรมีการวางแผนในการจัดการทางเข้าออก การเชื่อมทางด่วน จุดกลับรถ ป้ายจราจร การระบายรถช่วงเวลาเร่งด่วน ระบบสัญญาณไฟจราจร โดยการจำลองผล กระทบจากการจราจร ที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่และชุมชนโดยรอบ /การรองรับปริมาณผู้โดยสารทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งในแง่ของทำเลที่ตั้งและขนาดของพื้นที่ และไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนบ่อย ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้โดยสาร นักลงทุนและหน่วยราชการอื่นๆ ในการเตรียมแผนรองรับ และความสอดคล้องในการบริหารจัดการกับพฤติกรรมและรูปแบบในการเดินทาง สถานีขนส่งควรคำนึงถึงรูปแบบและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การเดินทางในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกล สถานีขนส่งผู้โดยสารควรคำนึงถึงการมารับ-ส่งของญาติ พื้นที่พักรอ พื้นที่การให้บริการของรถ ห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น



+++ด้านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานวันนี้ (22 มิ.ย. ) เรื่องพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560   และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560  นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ 2 กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากนี้ กระทรวงพลังงานจะทยอยนำกฎหมายลูก 6 ฉบับ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี ) รวมทั้งเงื่อนไขการเปิดทีโออาร์คัดเลือกผู้ประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศทีโออาร์ทันที โดยทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่ พล.อ.อนันตรพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กำหนด คือ เปิดทีโออาร์ได้ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมและคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561



+++พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า วันนี้ ที่กองปราบปราม เวลา 10.30 น. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กองปราบปราม /กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ / กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี /กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค / ตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน   ประชุมตรวจสอบสำนวน ในคดีนางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ โชกุน ผู้ต้องหาฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนครั้งสุดท้าย   ก่อนสรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการในช่วงบ่ายวันเดียวกัน  เบื้องต้น คดีนี้มีผู้ต้องหา 10 คน ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน  ซ่องโจร กระทำผิด พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินฯ  พ.ร.บ.คอมฯพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.ศุลกากร (ยาบำรุงมาสเตอร์มายที่ตรวจยึดได้) และ พ.ร.บ.อาหารและยา ส่วนยอดผู้เสียหายมี 517 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท ขณะที่การทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ต้องหาพบบางรายมีการทำธุรกรรมมากกว่า 1 พันครั้ง ซึ่งส่วนนี้ ปปง.ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้แล้ว รวมถึงทยอยคืนเงินให้กับผู้เสียหาย และดำเนินการขยายผลเส้นทางทางการเงินควบคู่ไปกับการดำเนินคดีในฐานฟอกเงิน สำหรับโชกุน พร้อมพวกถูกตำรวจ จับกุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังผัดที่ 7  ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ และขณะนี้ ถูกควบคุมตัวในทัณฑสถานหญิงกลาง



+++นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรปราการ นางบารนี เลิศไพศาล ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ กรณีทำสัญญาจ้างเก็บขยะมูลฝอยและกวาดถนนในเขตพื้นที่เทศบาลนครสมุทรปราการ โดยกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง 5 ปีติดต่อกัน ถือเป็นการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ โดยมิชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ มีมติว่านายชนม์สวัสดิ์มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 นางบารนีมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป



+++กรณีที่นางสาวฐิตินาถ ณ พัทลุง หรือครูอ้อย ผู้เขียนหนังสือ "เข็มทิศชีวิต" เข้าไปพัวพันกับหุ้น บมจ.แอสเซท ไบร์ท หรือABC โดยได้ชักจูงให้นักลงทุนมาซื้อหุ้น พร้อมรับประกันความเสียหายโดยอ้างว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตแต่ในสุดท้ายกลับทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเสียหายนั้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีของ ครูอ้อย เข็มทิศชีวิต ที่เข้าไปพัวพันกับหุ้น เอบีซี หรือบมจ.แอสเซท ไบร์ท และชักจูงให้นักลงทุนมาซื้อหุ้นโดยอ้างว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แต่สุดท้าย ผู้ซื้อหุ้นขาดทุนอย่างหนักนั้น ในส่วนของความเสียหาย ต้องให้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นผู้ตรวจสอบเพราะ มีอำนาจในการตรวจสอบได้หลายด้าน ทั้งเรื่องของเส้นทางการเงิน แต่ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้านี้ดูเรื่องของการซื้อขาย ซึ่งปกติตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบ และมีการเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติอยู่แล้ว เพื่อให้นักลงทุนได้พิจารณาได้อย่างรอบคอบ

ข่าวทั้งหมด

X