กรมชลประทานเริ่มโครงการบางระกำโมเดล ปลูกพืช-เก็บเกี่ยวเร็ว หลังส.ค.ปรับพื้นที่ว่างรอรับน้ำ

22 มิถุนายน 2560, 17:47น.


การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม วันนี้กรมชลประทาน ลงพื้นที่ที่จังหวัดพิษณุโลก  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีปัญหามาน้ำท่วมและน้ำแล้งมาตั้งแต่อดีต คือ เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำก็จะท่วมก่อนพื้นที่อื่น และเมื่อช่วงแล้งก็จะเป็นปัญหามากเช่นกัน เพราะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมตอนบนจะไม่มีที่กักเก็บน้ำ ประกอบกับตอนบนและตอนล่างมีพื้นที่การเกษตรกว้างขวางด้วย ความต้องการของน้ำจึงมาก 



ลุ่มแม่น้ำยม ครอบคลุมพื้นที่ 700 กิโลเมตร ใน 10 จังหวัด แต่จังหวัดที่แม่น้ำยมไหลผ่านจริงๆมี 5 จังหวัดคือ พะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง ซึ่งพื้นที่ตอนล่างจะมีปริมาณน้ำมากที่สุด 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อรวมกับพื้นที่ตอนกลางและตอนบนจะมีน้ำที่ไหลตลอดทั้งปี 4,000ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีแหล่งกักเก็บน้ำได้ไม่เกินร้อยละ 12 จะเห็นได้ว่าทุกปีจะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมถึง 3,000ล้านลูกบาศก์เมตร





โดยกรมชลประทานมีแนวทางบริหารจัดการน้ำ โดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส  ร่วมกับหลายหน่วยงานและเกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันบริหารจัดการแบบประชารัฐ คือการสนับสนุนโครงการบางระกำโมเดลปี2560 ในการปรับปฏิทินเริ่มปลูกพืชเร็วขึ้นเพื่อให้สอดรับกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ซึ่งเริ่มปลูกวันที่1เมษายนและอีกเพียง4เดือนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้  จากนั้นหลังวันที่1สิงหาหาคมต้องจะพยายามให้มีพื้นที่ว่างมากพอสำหรับกักเก็บน้ำมากกว่า400ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนก็จะไล่น้ำออกจากพื้นที่ไปบางส่วน อีกส่วนก็กักเก็บไว้เพื่อเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง  อันนี้คือกรณีของพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่มีมากกว่า265,000ไร่ แต่การแก้ไขปัญหาจะแก้เฉพาะจุดไม่ได้จะต้องแก้ทั้งระบบ ดังนั้นกรมชลประทานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานนานาชาติ คือ  โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (UNDP) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่3   ชาวบ้านจังหวัดแพร่ พะเยา เข้ามาช่วยกันทำแหล่งเก็บน้ำอีก 5-10โครงการเพื่อเป็นการกักเก็บหน่วงซับน้ำ ขณะเดียวกันก็มีการจัดการจราจรน้ำในช่วงน้ำหลากเข้ามาด้วย ส่วนแล้งก็มีการจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบโดยมีโครงการส่งน้ำจากแม่น้ำยม-น่านเข้ามา  ดังนั้นเห็นได้ว่ามีการดำเนินการควบคู่กับไประหว่างช่วงน้ำแล้งและน้ำหลาก





นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้น้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเคยมีพระราชดำริว่า  การพัฒนาแหล่งน้ำในหลักใหญ่ จะต้องควบคุมน้ำให้ได้ มีปริมาณน้ำ และคุณภาพที่เหมาะสม ถ้าน้ำมามากเกินไปก็ระบาย หากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำก็ต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้พอเพียง และต้องมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ซึ่งการกระทำใดๆอาจมีผลกระทบบ้าง เราต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ทางกรมชลประทานจึงนำพระราชดำริดังกล่าวมาปรับใช้และร่วมกับหลายหน่วยงานคิดกระบวนการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม2ปีที่ผ่านมากรมชลประทานได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานนานาชาติ ที่เข้ามาช่วยคิดวางแผน เพื่อให้โครงการต่างๆได้รับมาตรฐาน มีคุณภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ข่าวทั้งหมด

X