เปิดตัวหุ่นยนต์ตรวจสายเคเบิลสะพาน ลดความเสี่ยงของคน ประหยัดงบฯ

22 มิถุนายน 2560, 11:20น.


การยกระดับมาตรฐานการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0  โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ เปิดตัว หุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิล และกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลที่ทำจากยางพารา





นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้ กทพ. ได้ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ และบริษัทในเครือ นำหุ่นยนต์มาใช้ตรวจสอบสายเคเบิลสะพานแขวน โดยสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลบนสะพานที่ชำรุด ถือเป็นนวัตกรรมการตรวจสอบที่ยังไม่เคยใช้มาก่อนในประเทศไทย โดยเริ่มนำร่องแห่งแรกที่สะพานพระราม 9 เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากว่า 30 ปี





ซึ่งกระบวนการทำงานของหุ่นยนต์ ใช้วิธีการไต่ขึ้นไปบนสายเคเบิลโดยอัตโนมัติ เพื่อเก็บภาพอย่างละเอียด ในระดับ Full HD ทำให้ทราบถึงจุดชำรุดของสายเคเบิล นอกจากนี้ จะมีการเก็บข้อมูลภาพถ่ายไว้ในฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตามจะไม่สร้างความเสียหายกับสายเคเบิลเเน่นอน โดยสามารถตรวจสอบร่องรอยความเสียหายที่มีขนาดเล็กได้ถึง 0.1 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเส้นผม ทั้งนี้โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยงผู้ปฏิบัติงาน ที่จากเดิมสะพานมีความสูงเท่าตึก 26 ชั้น เมื่อต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะต้องใช้กล้องส่องทางไกล และกระเช้าลอยฟ้าปฏิบัติงาน แต่เมื่อมีหุ่นยนต์แล้วก็จะนำมาใช้ทำงานแทนคน ทั้งนี้ หลังการทดสองพบว่าหุ่นยนต์มีความรวดเร็วในการตรวจสอบจากเดิมสายเคเบิล 1 เส้น ใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 1 เดือน เหลือเพียง ไม่เกิน 5 ชั่วโมง และประหยัดงบประมาณได้เหลือร้อยละ 10 จากงบประมาณเดิม





ด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า นอกจากหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลสะพานแล้ว ยังมีการพัฒนากำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลเพื่อช่วยลดมลภาวะทางเสียง ป้องกันเสียงรบกวนจากถนนสู่ชุมชนโดยรอบ จากเดิมที่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นนำวัตถุดิบจากยางพารา ของเกษตรไทยเพื่อสนับสนุนผลผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าของเกษตรกรไทย





ชุดกำแพงกันเสียงนี้ มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยกั้นเสียงได้มากกว่ามาตรฐานเดิมถึงร้อยละ 40  นำยางพาราเป็นส่วนประกอบถึง 4,000 กิโลกรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร  รวมถึงประหยัดงบประมาณ จากเดิม ตารางเมตรละ 7,000 -8,000 บาท เหลือเพียงประมาณ 5,000 บาทเท่านั้น





 



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 

ข่าวทั้งหมด

X