ในวันนี้ กลุ่มองค์กรประชนชนยื่นหนังสือ สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปตำรวจเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ในทำเนียบรัฐบาล ขณะที่กลุ่มสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์ในสำนักงานกพ.
โดยที่ ศูนย์บริการประชาชนทำเนียบรัฐบาล นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้ปฏิบัติตาม ม.260 ของรัฐธรรมนูญ ในหมวดการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ พร้อมทั้งเสนอคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมุ่งมั่นในการปฏิรูปตำรวจ ไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปตำรวจหรือเข้ามาเพื่อรักษาอำนาจ หรือคอยปกป้องวัฒนธรรมการทำผิดขององค์กรตำรวจ รวมถึงมีอุดมการณ์ทำดีให้คนทั้งประเทศ เสียสละเพื่อปกป้องความยุติธรรม แต่ต้องไม่มีประวัติด่างพร้อยไม่เป็นผู้ที่นิยมเล่นพรรคเล่นพวกและมีความอิสระจากอำนาจอิทธิพลใดๆ ถ้าเป็นผู้แทนจากตำรวจจะต้องเป็นตำรวจที่มีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความยุติธรรม
พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายยังขอสนับสนุนแนวทางของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการกระจายอำนาจ จากส่วนกลางไปสู่ตำรวจในพื้นที่จังหวัด รวมถึงการแยกอำนาจในการสืบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ชั่วคราว สำนักงาน กพ. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล มีตัวแทนสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต เลขาธิการ สสลท. เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่เพื่อขอให้ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินค่าจ้างจากเงินงบประมาณโดยตรง โดยกล่าวว่า เงินบำรุงรักษาโรงพยาบาลที่ได้รับมานั้น ไม่ได้รวมกับเงินอัตราค่าจ้าง ทำให้พนักงานไม่ได้รับเงินเดือนโดยตรง รวมถึงไม่มีสวัสดิการ แต่มีเพียงประกันสังคมเท่านั้น ทั้งที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล ทั้งนี้ หาก 30 วันไม่มีความคืบหน้า จะพากลุ่มตัวแทนพบกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง พร้อมตัดพ้อว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ต่างด้าวได้รับยังมากกว่าค่าแรง 30 วันของลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล ทั้งขอให้ปรับสถานะของลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และให้มีการเยียวยาค่าประสบการณ์ของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขตามอายุงานเป็น 4 ช่วง คือ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี
...
ผสข.ปิยะธฺดา เพชรดี