นักวิชาการธ.โลก ไม่เห็นด้วยโครงการรถไฟไทย-จีน ด้านสมาคมเหล็ก เตรียมเจรจาก.คมนาคมใช้เหล็กในประเทศ

17 มิถุนายน 2560, 12:23น.


การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก มองว่า รัฐบาลมีความพยายามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศไทยในหลายด้าน แต่ในกรณีการดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยวิธีเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น เห็นว่า ควรจะมีการเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาแข่งขันการประมูลเพื่อที่จะให้ไทยได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกมาใช้ รวมทั้งสร้างความโปร่งใส โดยมองว่าแผนโครงการดังกล่าวไม่ดีมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ส่วนแผนการลงทุนขนาดใหญ่อื่นโดยภาพรวมถือว่าดี โดยเฉพาะการตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 

ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษกับจีน นำเข้าเหล็กจากจีนทั้งหมดมาใช้ในโครงการ นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้จีนนำเหล็กเข้าเพื่อมาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ทั้งหมด จะกระทบกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะเหล็กที่ไทยสามารถผลิตรองรับโครงการนี้ได้ เช่น การสร้างสถานีรถไฟในการทำหลังคา ที่ต้องใช้เหล็กแผ่น  เหล็กท่อ ส่วนโครงสร้างคอนกรีตผนังอาคาร ใช้เหล็กเส้น และ เหล็กแผ่นรีดร้อน ส่วนเหล็กที่ใช้ทำรางรถไฟความเร็วสูงต้องเป็นเหล็กพิเศษที่ไทยยังผลิตไม่ได้จะต้องนำเข้าจากจีนซึ่งผู้ประกอบการไทยยอมรับได้



ทั้งนี้สมาคมเหล็ก 7 สมาคมจะประสานกันในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อรองกับกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับจีนใช้เหล็กที่ผลิตจากในประเทศด้วย โดยมองว่าการที่จีนพยายามใช้เหล็กในประเทศตัวเองในโครงการนี้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ 

ด้านนายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการบริหารของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน ระบุว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐบาลประเทศต่างๆในอาเซียน มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ ซึ่งไทยควรศึกษารูปแบบจากประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะขณะนี้รัฐบาลมีแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ ควรใช้มาตรการคล้ายกับอินเดียและมาเลเซีย เช่น อาจจะเรียกว่า Buy Thai Steel Policy ซึ่งแม้แต่สหรัฐฯ ยังประกาศนโยบาย Buy America สนับสนุนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ



ขณะที่นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ยอมรับว่ากังวลการใช้ มาตรา 44 ดำเนินโครงการฯจะเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตเหล็กนำเข้ามาใช้ในโครงการอย่างไร โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานเหล็กจีน ซึ่งต้องเฝ้าติดตามต่อไป นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลทบทวนการใช้เหล็กในประเทศด้วย เพราะระดับกำลังการผลิตเหล็กขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 30-40 เท่านั้น 



CR: springnews , แฟ้มภาพ คลังภาพ รัฐบาลไทย



 

ข่าวทั้งหมด

X