หลังนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหาการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประกาศใช้มาตรา 44 จะทำให้สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้เสร็จเร็วขึ้น โดยคาดว่าทุกอย่างจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายนนี้ ส่วนตัวอยากให้เส้นทางรถไฟสายนี้ ยาวไปถึงหนองคายให้ได้ เพราะถ้าหากมีความยาวไม่ถึงหนองคาย จะไม่สามารถบรรจบกับรถไฟสายบน และประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์ ยืนยันว่าทางรถไฟสายนี้จะไม่ใช่ทางรถไฟธรรมดา แต่จะเป็นทางรถไฟตามภูมิรัฐศาสตร์ของหลายๆ ประเทศ ที่ร่วมกันพัฒนา และจะมาสะดุดที่ประเทศไทยไม่ได้ โดย 29 ประเทศ เส้นทางการเชื่อมต่อด้วยทางรถไฟเหล่านี้ โดยมีเข็มขัด 2 เส้น คือ ทางบกและทางน้ำ แต่ทั้ง 2 เส้นนี้ จะสามารถเชื่อมต่อกันได้ต้องผ่านอาเซียน และต้องผ่านประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ยืนยันว่าการก่อสร้างทางรถไฟนี้ ไม่ใช่ทางผ่านเพื่อจะให้จีนเข้ามาหาผลประโยชน์ และโครงการนี้เป็นโครงการระหว่างประเทศ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ขั้นตอนการก่อสร้างรถไฟรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ–นครราชสีมา อยู่ระหว่างการยกร่างสัญญา ซึ่งมีอยู่ 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาการจ้างออกแบบ, สัญญาการคุมงาน และสัญญาตัวระบบรถ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถเซ็นสัญญาการจ้างออกแบบได้ และภายใน 120 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาใช้มาตรา 44 จะต้องเริ่มตอกเสาเข็มแล้ว โดยการจ้างงานกับจีน ถือเป็นการจ้างงานแบบรัฐบาลกับรัฐบาล โดยบริษัทที่จะมาดำเนินการ จะเป็นบริษัทที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐบาลจีน ซึ่งมาตรา 44 จะยกเว้นในส่วนขั้นตอนที่ล่าช้า อาทิ การจัดซื้อ จัดจ้าง การประกวดราคา การกำหนดราคา และการอำนวยความสะดวกให้กับวิศวกรกับสถาปนิกจีน ซึ่งจะมีการอบรม ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิประเทศของไทย
ส่วนกรณีที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.) ออกมาคัดค้านการนำวิศวกรและสถาปนิกจีนมาออกแบบก่อสร้าง โดยขอให้ประเมินและขึ้นทะเบียนวิศวกรก่อนนั้น นายอาคม ระบุว่า เบื้องต้นมีการพูดคุย หารือ ในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะให้ความร่วมมือ และให้วิศวกร เข้ามาทดสอบเล็กๆ น้อยๆ และกระทรวงคมนาคมจะเข้ามาอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม
สำหรับที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง จะเป็นที่ดินของการรถไฟและที่ดินที่เวนคืนประชาชน ส่วนจะมีการระบุว่า บางพื้นที่ เป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม (สปก.) นั้น น่าจะเป็นโครงการอื่นมากกว่า ขณะที่การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้ส่งข้อมูลเป็นรอบที่ 6 แล้ว คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา และยืนยันว่าการก่อสร้างต้องผ่าน EIA ประกาศตามมาตรา 44 ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ ทั้งนี้วงเงินในการลงทุนของโครงการดังกล่าว จะมีการระดมทุนกัน และจะมีบางส่วนที่จะต้องกู้เงินมาจากจีนด้วย