ดีแทคร่วมมือ P2H และยูนิเซฟ เปิดห้องแชท Stop Bullying เลิฟแคร์ ไม่รังแกฉัน รับมือการกลั่นแกล้งเด็กในโลกโซเชี่ยล

15 มิถุนายน 2560, 11:29น.


ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเด็กสามารถเข้าถึงโลกไซเบอร์ได้อย่างกว้างขวาง แต่กลับพบปัญหาเด็กมัธยมต้นถูกกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์มากที่สุด วันนี้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลธ์ (P2H) ร่วมกันพูดคุย หารือในประเด็น "Cyberbullying เพราะการอยู่จึงเจ็บปวด" และร่วมกันพัฒนาห้องแชท Stop Bullying เลิฟแคร์ ไม่รังแกฉัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า การจัดระบบปกป้องคุ้มครองและเยียวยาเด็กเพื่อดูแลและรับมือ การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ รวมทั้งควบคุมสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเยาวชน เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ 5 ประการ ในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในสื่อออนไลน์ของรัฐบาล ขณะนี้มีแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีบทลงโทษชัดเจน



นายธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการลดการรังแกกันผ่านทางแชท lovecarestation มูลนิธิ P2H ระบุว่า โครงการ Stop Bullying เลิฟแคร์ ไม่รังแกฉัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ดีแทค และมูลนิธิ P2H เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชทออนไลน์ ในการลดความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการถูกรังแกทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการไม่รังแกกัน โดยผู้ที่ให้คำปรึกษาจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องนี้ โดยจะช่วยประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หรือหากอยากแชทกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถ Inbox มาพูดคุยได้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ซึ่งหากพูดคุยแล้วเคลียร์ไม่ได้ อย่างเช่น เครียด อยากฆ่าตัวตาย หรือมีสภาวะซึมเศร้า จะส่งต่อไปที่คลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กับที่คอลเซ็นเตอร์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข  โดยระบบปรึกษาผ่านห้องแชท Stop Bullying จะเปิดให้บริการในช่วงทดลองในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561





ด้านรศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ร้ายแรงกว่าในรูปแบบอดีตมาก เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะปรากฎอยู่นาน และสามารถแชร์การกลั่นแกล้งนี้ให้ขยายวงกว้างอย่างไร้ขีดจำกัดในเวลาอันรวดเร็ว จากการวิจัยขั้นต้น เรื่อง ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ในระดับชั้น ม. 1-3 พบว่าเด็กไทยเกือบร้อยละ 80 มีประสบการณ์ถูกกลั้นแกล้งในชีวิตจริง ร้อยละ 66 ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และร้อยละ 12 ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทยร้อยละ 45 มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ถึง 4 เท่า  





สำหรับ รูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ การโดนล้อเลียนและถูกตั้งฉายา ร้อยละ 79.4, การถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ ร้อยละ 54.4 และคนอื่นไม่เคารพ ร้อยละ 46.8 ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ นำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และถูกทำให้หวาดกลัว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือเพื่อน ตามด้วยผู้ปกครอง พี่น้อง และครูเป็นลำดับสุดท้าย  ส่วนตัวมองว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา ซึ่งจะมีครู เป็นกำลังสังคมที่จะมีความสัมพันธ์กับเด็ก รวมทั้งครอบครัวจะต้องมีการให้กำลังใจ เห็นอกเห็นใจ และ "ต้องมีทัศนะคติเชิงช่วยเหลือ ไม่ใช่การสืบสวน" หากไม่แก้ไขเด็กที่ถูกแกล้ง จะกลายเป็นผู้ที่ไปแกล้งกับคนอื่นต่อ และจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไป 





สมจิตร์ พูลสุข ผสข.

ข่าวทั้งหมด

X