สื่อในสังกัดสถานีวิทยุกองทัพบก ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดสัมมนาร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่และร่วมสร้าง Generation Z ไม่สูบบุหรี่
โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่ 2 ของประเทศไทย โดยอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยมีสูงถึง 40% ซึ่งมีการเปรียบเทียบกับประเทศอินเดียว่าถ้าหากพบระดับตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน อย่างเช่น ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทางรัฐบาลจะทำลายทันที ในขณะประเทศไทยที่มีการขายและโฆษณาบุหรี่ ที่มีสารพิษสูงถึง 250ชนิด และสารก่อมะเร็งอีก 70ชนิด ครึ่งหนึ่งของคนที่ไม่เลิกสูบบุหรี่จะป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 50,710คนต่อปี และป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่อีกกว่า 1ล้านคน
สำหรับ 10อันดับโรคมะเร็งในประเทศไทยที่พบในผู้ชาย คือ มะเร็งตับ, หลอดลมและปอด, ลำไส้ใหญ่, ต่อมลูกหมาก, ต่อมน้ำเหลือง, เม็ดเลือดขาว, ช่องปาก, กระเพาะปัสสาวะ, กระเพาะอาหาร, และหลอดอาการ ส่วนที่พบในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม, ปากมดลูก, ตับ, หลอดลมและปอด, ลำไส้ใหญ่, ช่องปาก, ไทรอยด์, เม็ดเลือดขาว, ต่อมน้ำเหลือง, และมะเร็งมดลูก
ศ.นพ.ประกิต กล่าวกรณีที่มีหลายคนเข้าใจผิดว่าควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำ กับนิโคตินนั้น ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต และวัยรุ่นนิยมสูบเพราะเห็นว่าควันเยอะดี ได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่ายังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอีกมากมาย รวมทั้งสารก่อมะเร็งอีกด้วย โดยอยากขอร้องให้เยาวชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย อย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตราย และยังทำให้เลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดาเลยทีเดียว
ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงสถานการณ์การควบคุมบริโภคยาสูบของประเทศไทย ว่าถ้าหากมีต้นแบบที่สูบบุหรี่ เยาวชนจะสูบตามถึง 13เท่า แต่ถ้าหากมีต้นแบบที่ไม่สูบบุหรี่ เยาวชนก็จะไม่สูบตามถึง 19เท่า โดยจำนวนประชากรและอัตราการสูบบุหรี่ครอบคลุมประชากรไทยตั้งแต่อายุ 15ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งมีความถี่ของการสูบทั้งสูบเป็นประจำ และสูบเป็นครั้งคราว มีสถิติ 3ปีที่ผ่านมา (2556-2558) ยังคงที่อยู่ที่ 20% แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงหากยังไม่มีการจัดการเชิงรุก ยอดของผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ก็อาจเพิ่มขึ้นได้
ทำให้ปัจจุบันต้องหาวิธีป้องกัน Generation Z โดยเฉพาะช่วงอายุ 15-18ปี ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงถึง 312,610คน (หรือร้อยละ 8) ซึ่งจากการสำรวจเยาวชนที่อยู่นอกเขตเทศบาลจะมีการสูบบุหรี่ที่สูงกว่า เยาวชนที่อยู่ในเขตเมือง นั้นอาจหมายถึงความรู้ ความเข้าใจเรื่องโทษของบุหรี่ยังไม่ทั่วถึง จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยเสนอด้านเสีย และโทษของบุหรี่ให้ทั่วถึงทุกครอบครัว เพื่อช่วยกันลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผู้สื่อข่าว วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์