สภาหอการค้าญี่ปุ่น หรือ เจซีซี ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร แถลงผลการสำรวจเศรษฐกิจของ บริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แถลงผลการสำรวจเศรษฐกิจของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม - 20 มิถุนายน 2557 นาย เซ็ทซึโอะ อิอุจิ ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจ ในฐานะประธานการสำรวจ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจติดลบถึงร้อยละ 25 มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการลดลงของสินค้าอุปโภคบริโภค และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 จากการสำรวจพบว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังชะลอตัว เพราะความเชื่อมั่นและการฟื้นฟูยังไม่กลับมาชัดเจน คาดว่า เมื่อถึงปลายปี ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจะปรับตัวบวกอยู่ที่ร้อยละ 3 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองน่าจะมีความสงบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศการลงทุน และความเชื่อมั่นจะกลับมา
นาย อิอุจิ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงระบบศุลกากรและโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงขอให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองโดยเร็ว โดยจากผลสำรวจร้อยละ 93 ระบุว่า ปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมืองส่งผลต่อการลงทุนและการส่งออกมากที่สุด
ส่วนแนวโน้มในอนาคต บริษัทญี่ปุ่นมองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในการลงทุนและส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเร่งจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย หรือ อาร์แอนด์ดี เพื่อยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในอนาคต จะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมขนส่งและบริการ ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่สามารถนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆได้สะดวก อนาคตการลงทุนจึงมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยต่างๆประกอบกัน โดยเฉพาะปัจจัยภายในของประเทศไทย ในด้านการเมืองและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างการปฎิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด นาย อิอุจิ กล่าวว่า ในขั้นตอนสุดท้ายต้องการให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการค้าตามกลไลตลาด และขอให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ สำรวจ ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม - 20 มิถุนายน 2557 เป็นการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย 423 บริษัท โดยใช้ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาศัยปัจจัยทางการเมือง ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด