การติดตามการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมกับคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และคณะฯ ลงพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นายจรัลธาดา กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำในปีนี้ทั่วประเทศ ว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้หรือไม่ ในวันนี้จึงลงมาดูพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ซึ่งเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในอดีตพื้นที่แห่งนี้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี และมีผู้คนอพยพออกจากพื้นที่เพื่อไปหางานทำ ทิ้งบ้านสวนและคนแก่เอาไว้ โดยหลังจากทำโครงการนี้เสร็จแล้ว น้ำก็ไม่ท่วมในพื้นที่นี้อีกเลย ปัจจุบันประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการคมนาคมที่ดีและสภาพพื้นที่สามารถทำการเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีรสชาติหวานอร่อย มากที่สุดในประเทศไทย
องคมนตรีกล่าวว่า ในวันนี้ยังได้ปรึกษา หารือกับกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ และวิธีการบริหารจัดการน้ำ พบว่าสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในเขื่อนและปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังไม่มากจนเกินไป ตนจึงแนะนำในที่ประชุมว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงสืบต่อรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย แต่พื้นที่ที่จะทำในรัชกาลปัจจุบันจะหายาก จึงต้องคิดโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุด และจะถวายรายงานให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้เป็นโครงการในพระราชดำริต่อไป ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่ประชาชนมีฎีกาขอพระราชทาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมกับเลขาธิการ กปร. และกรมชลประทาน ร่วมกันลำดับ และคิดเพื่อแก้ปัญหา โดยร้อยละ 90 จะเป็นเรื่องของแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เมื่อตกผลึกทางความคิดแล้วจะกราบทูลให้มีพระราชวินิจฉัยต่อไป ซึ่งขณะนี้มีโครงการในพระราชดำริแล้ว 16 โครงการ
สำหรับ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยประชาชน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมวิกฤติกรุงเทพเมื่อปี 2538 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการ และดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ได้พระราชทานพระราชดำริ “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร ก็ออกทะเล หากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา” เนื่องจากเดิมคลองมีระยะทางยาว 18 กิโลเมตร และต้องอ้อมคุ้งบางกระเจ้า จึงไม่สามารถระบายน้ำออกทะเลได้ทันที
โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2548 โดยดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ให้มีความกว้าง 65 เมตร ด้านเหนือน้ำก่อนถึงประตูกว้าง 66 เมตร ความลึกของท้องคลองอยู่ที่ระดับ 7 เมตร จากน้ำทะเล ความยาวจากปากคลองถึงปลายคลอง 6 เมตร และก่อสร้างประตูระบายน้ำ 4 ช่อง พร้อมกับบานระบายเหล็กแนวตรง กว้าง 14 เมตร สูง 9.55 เมตร เริ่มดำเนินการเปิดบานระบายเพื่อใช้งานในช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2549
สำหรับการบริหารจัดการน้ำจะต้องมีความสัมพันธ์กับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล สามารถระบายน้ำหลากในฤดูฝนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญสามารถย่นระยะเวลาการระบายน้ำออกสู่ทะเลในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร ซึ่งช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่กระเพาะหมู หรือคุ้งบางกระเจ้า ในอำเภอพระประแดง กว่า 12,000 ไร่ ที่เคยถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรทุกปี แต่หลังจากมีโครงการฯ ก็ไม่เกิดอุทกภัยอีกเลย
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และภูมิพล 2 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ