นายกฯนำทีมแจงงบฯ2561 วาระแรก 2.9 ล้านล้าน มท.-คลัง-คมนาคม ของบฯเพิ่มขึ้น

08 มิถุนายน 2560, 10:08น.


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางมาชี้แจงหลักการและเหตุผลด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระแรก ขั้นรับหลักการ และจะเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น คาดว่า จะใช้เวลาใกล้เคียง กับการพิจารณาเมื่อปีที่ผ่านมา คือ เสร็จสิ้นในเวลา18.30 น.สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 65 มาตรา รวมวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอในวาระแรก  สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จำแนกเป็นโครงสร้างงบประมาณ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย งบกลางเป็นงบประมาณบูรณาการและค่าใช้จ่ายบุคลากร กลุ่มงบประมาณบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณกระทรวง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ และกลุ่มงบประมาณบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ





สำหรับไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ 5 อันดับกระทรวงซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด เริ่มที่ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท 2. กระทรวงมหาดไทย 355,995 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง 238,356 ล้านบาท  4. กระทรวงกลาโหม 222,436 ล้านบาท  และ 5. กระทรวงคมนาคม 172,876 ล้านบาท โดยมี 3 กระทรวง ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม หลังจากที่สนช.ลงมติรับหลักการในวาระแรกแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญฯ ต่อไป



ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.เปิดเผยว่า มีสมาชิกสนช. 18 คนยื่นอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2561 โดยส่วนใหญ่จะอภิปรายมาตรา 3 เกี่ยวกับภาพรวมงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ชี้แจงหลักการและเหตุผล หลังจากนั้นผู้อภิปรายจะได้แสดงความเห็นคนละ 8 นาที คาดว่าภาพรวมจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง และนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจงตอบข้อซักถามด้วยตัวเองในช่วงท้าย  หลังจากลงมติรับหลักการในวาระแรก ที่ประชุมจะตั้งกรรมาธิการร่วม 50 คน สัดส่วนคณะรัฐมนตรี(ครม.) จำนวน 10 คน  สนช. 40 คน ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 105 วัน ก่อนนำเสนอเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ต่อไป 



 



ผู้สื่อข่าว: ปิยะธิดา เพชรดี  

ข่าวทั้งหมด

X