สธ.เพิ่มการเฝ้าระวังโรคเนื้อเน่า ลดอัตราการเสียชีวิต

27 กรกฎาคม 2557, 11:54น.


นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเนื้อเน่า และปรากฏเป็นข่าวว่าเป็นแบคทีเรียกินเนื้อคนว่า โรคที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว ทางการแพทย์เรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส (Necrotizingfasciitis)หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคเนื้อเน่า จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง มีอัตราตายและพิการสูง พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักพบในเกษตรกร ที่ทำไร่ทำนา ทำให้มีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือในน้ำได้ง่าย


ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยประมาณ 100 - 200 ราย อัตราตายร้อยละ 9 - 64 ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และความรุนแรง หากมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือเดือนมีนาคม – มิถุนายนรองลงมาเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม– ตุลาคม จึงให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้ โดยเฉพาะการดูแลบาดแผล อาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรค คือ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น


ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเนื้อเน่า ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีอาชีพทำนา ตำแหน่งที่เกิดเกือบครึ่งหนึ่งเกิดที่บริเวณขารองลงมาเป็นบริเวณเท้า เนื่องจากต้องเดินลุยดงหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา ทำให้มีแผลถูกใบหญ้าใบข้าวบาด กิ่งไม้ข่วน เกิดแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงที่สุด คือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย และช็อก เสียชีวิตในที่สุด


โรคเนื้อเน่า มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcusgroup A) เชื้อเคลปซิลล่า (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยักเชื้ออี โคไล (E. coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ โดยจะปวดแผลมากแผลอักเสบบวมแดงร้อนอย่างรวดเร็วโดยอาการปวดจะรุนแรงมากแม้จะมีบาดแผลเล็กๆ ก็ตามซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ รวมทั้งมีไข้สูงผิวหนังที่บาดแผลมีสีคล้ำม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น หากได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว โดยผ่าตัดเอาเนื้อที่เน่าตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ จะลดอัตราการตายและพิการลงได้


  ....
ข่าวทั้งหมด

X