การดูแลสถานการณ์ ภาพรวมในกรุเทพมหานคร หลังเกิดเหตุระเบิดที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1) กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เน้นย้ำถึงมาตรการการดูแลการรักษาความปลอดภัยภายหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยทุกหน่วยของกองทัพภาคที่ 1 ได้เตรียมการในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งในส่วนของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ก็อยู่ประจำพื้นที่ทุกจุด แต่คนที่จ้องจะทำก็พยายามหาโอกาส ซึ่งไม่ใช่ว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วจะมาเพิ่มมาตรการการดูแลรักษาความปลอดภัย เพราะเรื่องเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เรามีระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เช่น การดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สนามหลวง จะเห็นว่าในส่วนของ กทม.ได้ให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนกล้องวงจรปิด และติดเพิ่มอีก 200 กว่าตัว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยให้ พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ไปดูแล และมีการเข้มงวดในการตรวจ และเพิ่มชุดจักรยานสายตรวจอีก 30 คัน เพื่อจะได้เข้าถึงทุกตรอกซอกซอย และสามารถตรวจได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ 1.มาตรการในการรักษาความปลอดภัยในที่ตั้งของตัวเอง ซึ่งตนได้กำชับหน่วยทหารทุกหน่วยหาที่ตั้งของตัวเองมีปัญหา ผู้บังคับหน่วยต้องรับผิดชอบและพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ ตามที่ได้รับการแบ่งแบบมอบให้ ให้ไปเพิ่มมาตรการการดูแลรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะ ในส่วนที่ผู้บัญชาการทหารบกเป็นห่วง ก็คือบริเวณขนส่งมวลชน สถานที่สัญลักษณ์ สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถือเป็นพื้นที่เปิดและทั่วโลกคงไม่คิดว่าการก่อเหตุลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาล และขอให้ช่วยกันประณาม คนที่อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุน จะด้วยวิธีใดก็ตามเป็นสิ่งที่โลกนี้รับไม่ได้ และการก่อวินาศกรรมทั่วโลกเขาไม่ทำกันที่โรงพยาบาล ยกเว้นเกิดความผิดพลาด ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทุ่มเทความสามารถเพื่อหาเบาะแสผู้ก่อเหตุให้ได้ ซึ่งกลุ่มผู้ต้องสงสัยมีหลายกลุ่ม และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม รวมถึง ผบ.ทบ. มีความใจเย็นมากแล้ว ที่ไม่ดำเนินการต่อกลุ่มต่างๆที่ต้องสงสัย ทั้งๆที่หน่วยกำลังมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินการต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัยทันที หากมีการสั่งการมาให้ดำเนินการ ผมและลูกน้องทุกคนพร้อมเต็มที่ แต่ผู้ใหญ่ได้พูดเสมอว่าให้หาหลักฐานให้ชัดเจน หาจุดเชื่อมโยงให้ได้ ถ้าไม่มีหลักฐานเพียงพอก็อย่าดำเนินการใดๆ เช่น การควบคุมตัวหรือเชิญตัวผู้ที่มีพฤติกรรมที่จะทำลายประเทศ มาให้ข้อมูล ถ้าไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด หรือหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะเป็นเพียงการสุ่ม
แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวด้วยว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยมีหลายกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา ถึงแม้ว่าการทำงานบางอย่างต้องใช้กฎหมายพิเศษ หรือกำลังฝ่ายทหารในการเข้าไปดำเนินการ ขอให้ประชาชนมีความเข้าใจว่าคนที่เสียประโยชน์ไม่สามารถพูดกันดีๆได้ แต่ยืนยันว่ากลุ่มที่เสียผลประโยชน์ดังกล่าวไม่สามารถบั่นทอนและทำลายศักยภาพรัฐบาลได้ ซึ่งนายกฯได้พูดกับกองทัพบกว่าท่านจะไม่มีวันเสียกำลังใจ และยกเลิกความตั้งใจในการที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น
แฟ้มภาพ