ป.ป.ส.ร่วมกับ11หน่วยงานลงนามความร่วมมือให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมผู้ต้องหาคดียาเสพติดและความรุนแรงในครอบครัว

23 พฤษภาคม 2560, 11:21น.


การบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล ระหว่าง 12 หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ,สำนักงานศาลยุติธรรม, กรมสุขภาพจิต ,กรมการแพทย์ กรมคุมประพฤติ ,กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง




นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ผู้มีสิทธิเข้ารับคำปรึกษาด้านจิตสังคม มี 4 กลุ่ม คือ  ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีที่เสพสารเสพติด หรือครอบครองสารเสพติดจำนวนเล็กน้อย หรือขับขี่และเสพสารเสพติดหรือสุรา ผู้ต้องหาในคดีความรุนแรงในครอบครัวหรือคดีอาญาอื่นๆ ที่มีโทษไม่ร้ายแรง และศาลพิจารณาให้ประกันตัว, จำเลยที่ได้รับการประกันตัวและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล, จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ 4, ผู้ที่สมัครใจเข้ารับคำปรึกษาเอง 


สำหรับการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวของทั้ง 3 ศาล คือ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้เข้ารับคำปรึกษา จำนวน 4,947 คน ซึ่งมีผู้เข้ารับคำปรึกษากลับไปกระทำผิดซ้ำเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น มองว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก จึงจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ 2560-2562 โดยมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 3 หน่วยงาน คือ กรมการแพทย์ ศาลจังหวัดปทุมธานี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน ด้วย  นับว่าเป็นโครงการเชิงรุกที่จะช่วยลดโอกาสสำหรับผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงที่อาจจะแปรสภาพเป็นอาชญากรมากขึ้น 


ด้านนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ มาจากความสำเร็จที่ป.ป.ส.และอีก 11 หน่วยงาน ร่วมมือกันพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวที่มีโทษไม่ร้ายแรงและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยป.ป.ส.ได้ให้การสนับสนุนมาตลอด รวมถึงให้คำปรึกษาด้านวิชาการให้กับ 5 ศาล คือ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดปทุมธานี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน เพื่อให้มีการจัดอบรมและให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม เปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิดเหล่านี้ไม่ให้กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก  ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการทำบันทึกข้อตกลง  โดยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผ่านการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ตระหนักถึงปัญหามากขึ้น มีการพัฒนาพฤตินิสัย ฟื้นฟูสภาพจิตใจและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่กลับไปกระทำผิดอีก ซึ่งย่อมส่งเสริมให้ครอบครัวของคนพวกนี้ได้รับความสุขกลับคืน


อีกทั้งสังคมที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผ่านการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมจะรู้สึกปลอดภัยและมีความอุ่นใจในการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะถูกประทุษร้ายต่อร่างกาย หรือถูกทำลายหรือแย่งชิงทรัพย์สิน


 


 


...


ผสข.ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ 
ข่าวทั้งหมด

X