การตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงเพื่อตรวจสอบรายละเอียดเอกสารลับในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ร่วมแถลงยืนยันว่า หลังจากที่ได้ตรวจสอบและพิจารณาเอกสารในการจัดซื้อเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งได้มีการตรวจสอบไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่กองทัพเรือจะไปจ่ายเงินงวดแรก 700 ล้านบาทตามสัญญา จากทั้งหมด 13,500 ล้านบาท
โดยในขั้นตอนของกองทัพ เรื่องของการผูกพันงบประมาณ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามปกติของวิธีงบประมาณตามที่หน่วยราชการจะได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นตามภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ก็มีการเสนอไปยังสำนักงบประมานแล้วและมีการอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามปีงบประมาน
ส่วนกรณีการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ จากที่ตรวจสอบ ตามกระบวนการเสนอมีการขอความเห็นจากกระทรวงต่างประเทศแล้ว และมีการชี้แจงว่า ไม่ใช่ลักษณะของสนธิสัญญา แต่เป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ ประกอบกับกฤษฎีกา ก็ได้ยืนยันลักษณะที่ดำเนินการไป ไม่ขัดข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178
โดยยืนยันว่า ผลการตรวจสอบไม่พบเรื่องของความผิดปกติในเรื่องของการใช้งบประมานของประเทศแต่อย่างใด และการตรวจสอบนี้ถือเป็นการปิดการตรวจสอบในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ทั้งหมดของขั้นตอนการตรวจสอบ
ส่วนกระบวนการคัดเลือก มีการทำหนังสือเชิญชวนไป 6 ประเทศ ตามกรอบที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. โดยในหนังสือเชิญชวนระบุรายละเอียดสเปคความต้องการของกองทัพเรือที่ต้องการใช้งาน มีการเปรียบเทียบความเหมาะสมและตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด มีการเปรียบเทียบการทำสัญญาจีทูจี ซึ่งพบว่าจีนได้ให้กองทัพเรือจีนมาดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสร้างและฝึกอบรม ทดสอบ เตรียมความพร้อมเมื่อเรือมาถึงประเทศไทย
ขณะเดียวกันบริษัทที่จัดสร้างเรือมีเอกสารยืนยันว่าอยู่ภายใต้ทางการจีน เป็นหน่วยงานภาครัฐของจีน ซึ่งต้องมี สตง. จีน กำกับดูแลเช่นกัน รวมทั้งไม่พบว่ามีการติดต่อระหว่างกองทัพเรือกับนายหน้าคนกลาง
ส่วนความเหมาะสมหรือไม่นั้นเห็นว่า ครม. ได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาอนุมัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สตง. ตรวจสอบเพื่อต้องการฟอกขาวให้กับ คสช. ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการฟอกขาวให้รัฐบาลและกองทัพเรือ เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ผิดก็บอกว่าไม่ผิด ซึ่งสตง.ไม่เอาเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือยอมติดคุกเพื่อใครบางคน สตง. ยุคนี้ไม่ได้ซูเอี๋ยกับใคร
อย่างไรก็ตาม เคยมีกรณีปี 2554 ที่มีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ด้วยงบกว่า 7,000 ล้าน เมื่อ สตง.มีการติดตามตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นมือ 2 จากเยอรมัน มีเรื่องของการซ่อม จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมก็เคยมีการแจ้งเตือนไป จนทำให้การเสนอเรื่องดังกล่าวตกไป จนถึงในปัจจุบันที่มีการซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง จนได้ข้อยุติในการจัดซื้อเพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งหลังจากนี้สตง. ก็จะเข้าไปตรวจสอบขยายผลติดตามกระบวนจัดซื้อให้เป็นไปตามกระบวนการดำเนินการตามข้อตกลงต่อไป ซึ่งหากพบว่าในระหว่างนี้มีความผิดปกติ สตง.ก็สามารถยับยั้ง และหากพบว่ามีความผิดก็สามารถเอาผิดได้เช่นกัน
...
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี