การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ในการบรรยาย กิจกรรมจิบน้ำชา ภาษาคนรักษ์น้ำ โดยการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อส่งเสริมแนวคิดการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ก่อนทำกิจกรรมประหยัดน้ำ กระตุ้นสร้างจิตสำนึก ตั้งแต่เด็ก ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับ 23 โรงเรียน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม นายชูชาติ ศุภวรรณธนางกูร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และอดีตผู้อำนวยการโครงการชลประทานปทุมธานี กล่าวว่า ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า "หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้" ทำให้เห็นว่าน้ำมีความสำคัญต่อชีวิตที่ขาดไม่ได้ เห็นได้จากโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องน้ำจำนวนมาก
ทั้งนี้ น้ำเกิดจากฝนที่ตก 5 เดือนต่อ 1 ปี มีความจุประมาณ 736,800 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สาเหตุที่น้ำยังไม่พอใช้ เนื่องจากไม่สามารถเก็บกักน้ำฝนที่ตกลงมาได้ทั้งหมด เพราะมีการกักเก็บหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเก็บได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนน้ำที่เหลือจะไม่สามารถควบคุมการกักเก็บได้ อีกทั้งแหล่งกักเก็บน้ำตามเขื่อนต่างๆ ที่ถูกสร้างมาหลายสิบปี ยังคงใช้ระบบเกณฑ์กักเก็บเหมือนเดิม ขณะที่ประชาชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วย ส่วนในอนาคตหากอยากมีน้ำใช้ตลอด ต้องอาศัย 2 ปัจจัย คือ ลดการใช้น้ำ ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงทำแหล่งกักเก็บน้ำหรือเขื่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ยากและใช้เวลาหลายปี ดังนั้นการลดการใช้น้ำ จึงเป็นวิธีที่ทำได้ โดยด้านอุปโภคบริโภค ทั้งน้ำกินและใช้สามารถที่ประหยัดหรือใช้ให้คุ้มค่าได้ เช่น นำน้ำที่ซักผ้าไปใช้ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ต่อ ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะล้างจาน หรือเลือกใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อประหยัดน้ำ เช่น ใช้ฝักบัวอาบน้ำ ล้างจาน ส่วนปริมาณน้ำฝนในปีนี้ ถือว่าประเทศไทยโชคดีที่ฝนตกตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ต้องใช้น้ำ ตามระยะเวลาที่ฝนตกลงมา เพื่อการใช้น้ำอย่างเพียงพอ
หลังการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำแล้ว จะมีกิจกรรมการประหยัดน้ำในโรงเรียนซึ่ง จะวัดปริมาณการใช้น้ำระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 เทียบกับเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 ใน 23 โรงเรียน ที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชิงทุนการศึกษารวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 บาท
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม