มาที่เรื่องของการช่วยเหลือชาวนา นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่ากำลังมีการจัดทำบัญชีเกษตรกร ที่มีสิทธิ์เข้ารับมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปดำเนินการ ประกอบด้วย การช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐชดเชยให้ไม่เกินร้อยละ 3 จากดอกเบี้ยปกติร้อยละ 7 วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เงินสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 4 เดือน ระหว่างรอการขายข้าว ในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ รายละไม่เกิน 200,000 บาท และเพิ่มสภาพคล่องสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มความสามารถการทำธุรกิจ และนำไปรับซื้อข้าวจากสมาชิกก่อนส่งขายโรงสี
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การเข้าร่วมตรวจสอบสต๊อกข้าวของชุดคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือนั้น ทั้งปริมาณและคุณภาพข้าวแต่ละโรงสี จะต้องตรงกับบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐที่ ธ.ก.ส.และกรมบัญชีกลาง ได้จัดทำและนำเสนอรายงานใบประทวน ในชุดคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ แต่หากการตรวจสอบ พบว่า ปริมาณและคุณภาพไม่ตรงตามบัญชีข้าวคงเหลือ ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป โดยต้องแยกข้าวออกเป็น ข้าวหาย และข้าวเสื่อม แต่กรณีข้าวเสื่อมโดยเวลา อาจไม่มีความผิด สามรถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน แต่จะต้องตั้งเป็นผลขาดทุนบวกค่าเสื่อม ซึ่งยังต้องรอผลสรุปการตรวจสต๊อกข้าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะรู้ตัวเลขปริมาณข้าวที่แท้จริง เพื่อดำเนินการปิดบัญชีข้าวต่อไป
ซึ่งนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ จะแยกตามโรงสี ปริมาณข้าว ประเภทข้าว แยกระบุชื่อผู้รับข้าว คือ องค์การตลาดเพื่อการเกษตร ( อตก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) รวมถึงเจ้าของโรงสี
สำหรับคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือ โดย มล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แบ่งทีมตรวจสอบข้าวของรัฐบาลทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 100 ทีม ซึ่งในแต่ละทีมมีเจ้าหน้าที่ทั้งจากข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกองทัพ โดยมีผู้ตรวจราชการแต่ละกระทรวงเป็นหัวหน้าทีม
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออกจำนวน 205 ราย เกี่ยวกับภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาสที่ 3 ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนพบว่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็ง-กระป๋องและแปรรูป ยางพารา และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าว นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน หรือ กกจ. กล่าวว่า หลังจากการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเสร็จ (วัน สต็อป เซอร์วิส) ไปแล้ว 13 จุดในต่างจังหวัด 6 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 4 จุดตามแนวชายแดน รวมแล้ว 19 ศูนย์ ทั่วประเทศ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศให้เปิดศูนย์บริการเพิ่มอีก 15 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง สตูล และสมุทรสงคราม โดยเริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม-21 สิงหาคมนี้
วันนี้ 8 เครือข่ายสุขภาพจะไปยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้สอบสวนคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตประธานบอร์ด อภ.และคณะอีก 10 คน ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ลาออก เพราะบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพและส่อว่าจะมีการทุจริต
เช้าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดเสวนา"การจัดการกำไรและบรรษัทภิบาลในตลาดเกิดใหม่ : หลักฐานเชิงประจักษ์จากประเทศไทย"
*-*