รอลุ้นหลัง20.00น.จะเห็นดาวพฤหัสบดีใกล้โลกหรือไม่ หลังฟ้าปิด มีเมฆมาก

08 เมษายน 2560, 19:27น.


การชมดาวพฤหัสบดีที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี2560 วันนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณ บริเวณลานพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ท่ามกลางความสนใจของประชาชน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นำกล้องโทรทรรศน์มาตั้งไว้ให้ประชาชนได้ส่องดาวพฤหัสบดี เพราะในช่วงค่ำของวันนี้ ดาวพฤหัสบดี จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากฟ้าใส ไม่มีเมฆ จะสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06:14 น. ของเช้าวันพรุ่งนี้  เมื่อใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะสามารถเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน ได้แก่ ไอโอ  ยูโรปา  แกนิมีด และคัลลิสโต รวมถึงจะมองเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ได้อย่างชัดเจน





ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ดาวพฤหัสบดีกำลังขึ้นแล้ว อยู่ห่างจากโลกประมาณ670ล้านกิโลเมตร แต่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากฟ้าปิด  ยังตอบไม่ได้ว่าวันนี้ชาวกรุงเทพมหานคร จะเห็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์หรือไม่ ขณะเดียวกันในพื้นที่อื่นของประเทศท้องฟ้าเริ่มเปิดแล้ว





ต้องรอลุ้นไปจนถึงเวลา20.00น.หลังจาก20.00น.แล้วทิศทางของดาวก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีจัดขึ้นที่ ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพียงที่เดียว ยังจัดที่หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา พร้อมระดมเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทั่วประเทศ มากกว่า 160 แห่งด้วย  ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเดินทางมาชม เพราะยังพอมีเวลา โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี จะดูได้ถึงเวลาประมาณ 19:00-20:00 น.  และเวลาประมาณ 19:00-21:00 น. จะพบกับจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ซึ่งหากฟ้าเปิดและขึ้นสูง จะมีการจะถ่ายทอดภาพปรากฏการณ์นี้ จากกล้องโทรทรรศน์ที่ดอยอินทนนท์มาให้ชมกันที่ลานพาร์คพารากอนด้วย





นอกจากนี้ ยังมีท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัลที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมรอบละ40คนต่อ15นาที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดกิจกรรมสำหรับดาวพฤหัสบดีจะขึ้นเต็มดวง  โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ล่าสุดก็เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ส่วนอนาคตปีต่อไป จะโคจรมาใกล้โลกมากที่สุดวันที่ 9 พฤษภาคม 2561



 





ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X