การติดตั้งระบบ GPS Tracking ในรถโดยสารสาธารณะ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะออกต่างจังหวัด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้เยี่ยมชมการทำงานศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก นายสนิท กล่าวว่า หลังประกาศให้รถกลุ่มเป้าหมาย ที่มีปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ต้องติดตั้ง GPS Tracking ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงสิ้นปี 2560 โดยพบรถเป้าหมาย ประกอบด้วย รถขนาดใหญ่ รถพ่วง รถลากจูง และรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ส่วนรถตู้โดยสารที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นนั้น ได้ให้ติดตั้ง GPS Tracking ภายใน 31มี.ค. 2560 จากข้อมูลพบว่า มีรถตู้โดยสาร ติดตั้ง GPS Tracking แล้วจำนวน 4,863 คัน จากทั้งหมด 5,200 คัน หรือ ติดตั้งไปแล้ว ร้อยละ 90
สำหรับ การติดตั้ง GPS Tracking ไม่เพียงแต่จะติดตามตัวรถโดยสารได้เท่านั้น แต่จะสามารถรู้ข้อมูลผู้ขับขี่ ข้อมูลผู้ประกอบการ พฤติกรรมการให้บริการแบบเวลาจริง รวมทั้งความเร็วในการขับขี่ทุกพื้นที่ ผ่านข้อมูลที่ส่งมายังศูนย์บริหารจัดการเดินรถ GPS ที่กรมการขนส่งทางบก และศูนย์ GPS สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนสามารถติดตามได้ผ่าน Application DLT GPS ตลอดช่วงเทศกาล อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่าความจำเป็นของการให้รถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้ง GPS Tracking ไม่ใช่การจับผิด แต่เพื่อต้องการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น และเพื่อเป็นการบริหารจัดการการเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนมาตรการห้าม นั่งบริเวณท้ายรถกระบะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา เป็นการดูแลประชาชนให้เกิดความปลอดภัย เคารพกฎจราจร ใช้รถอย่างมีสติ มีวินัย สำหรับการคาดเข็มขัดนิรภัยรถกระบะที่จดทะเบียนในประเภทรถปิคอัพ ก่อน 1 ม.ค. 2537 ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย จึงไม่ถูกบังคับใช้ ส่วนรถปิคอัพที่ใช้ในประจำวันในปัจจุบัน ที่มีเข็มขัดนิรภัย ตรงตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศต้องดำเนินตามกฎหมายกำหนด ส่วนท้ายกระบะ ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับนั่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องความไม่ปลอดภัย นอกจากนี้การบรรทุกคนยังต้องบรรทุกตามจำนวนที่กำหนด โดยอยากให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัย และหากต้องเดินออกต่างจังหวัด อาจเลือกใช้บริการรถเช่าเหมา ที่จดทะเบียนตามกฎหมายและติดตั้ง GPS อย่างถูกต้อง
ส่วนการจัดระเบียบแท็กซี่อูเบอร์ (UBER) จากการประชุมร่วม ทางฝ่ายของแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ได้ยื่นข้อเสนอ ให้ทางกรมการขนส่งทางบก ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม ภายในระยะ 6 เดือน เนื่องจากรถแท็กซี่อูเบอร์หรือรถให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่มีกฎหมายรองรับในระหว่างนี้ หากมีการให้บริการถือว่าผิดกฎหมาย
ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม