หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ชี้แจง หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้ ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญา เมื่อนั้น ครม.และ คสช. ก็สิ้นสุดอายุการทำงาน ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนดสิ้นสุดวาระ 15 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) สิ้นสุดวาระการทำงานทันทีที่ประกาศใช้กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูป ภายใน 4 เดือน ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องอยู่ทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 8 เดือน ถึงพ้นวาระ ส่วนมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุกฉบับ แม้รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ยังสามารถดำเนินการได้ จนกว่า คสช.จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องการลาออกไปสมัครเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือภายในวันที่ 4 ก.ค. ทั้งนี้จะไม่รวมถึงการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และการได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว การออกกฎหมายพระราชบัญญัติ จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าเดิม ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ในบางเรื่องการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเป็นเรื่องยาก เช่น เรื่องภาษี ก็จะมีการทำคู่มือออกมา เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และในกฎหมายบางฉบับที่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต้องมีกรอบดำเนินการให้เสร็จตามระยะเวลา หากไม่เสร็จตามแผน ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบจะต้องพ้นสภาพการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายวินัยการคลัง เป็นต้น