การจัดทำแผนสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ฉบับที่ 4 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆก่อนจะมีการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2562-2566) รศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด หัวหน้าโครงการร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 กล่าวว่า แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่จำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมี ซึ่งในระดับอาเซียนนี้ มีเพียง 3 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่จัดทำแผนสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติของแต่ละประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทย ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว 7 ฉบับ เช่น ด้านสิทธิเด็ก สตรี เศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา ได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว 3 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2544-2548) เน้นเรื่องเชิงนโยบาย พร้อมตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้นมา และ กำหนดประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) เน้นบูรณาการสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ และฉบับที่ 3 (พ.ศ.2557-2561) เน้นเชิงปฏิบัติการ และกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ส่วนในแผนสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 4 ที่จะเริ่มใช้งานในปี 2562 ขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ก่อนจะยกร่างแผน และทำประชาพิจารณ์
โดยในแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 4 จะเน้นการมองสภาพปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมทั้งหาสาเหตุของการเกิดปัญหาซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริงโดยสาเหตุต่างๆ จะมาจากการรับฟัง ความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อระดมความคิดเห็น พบว่า ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ที่พบเกือบทุกพื้นที่ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม การขนส่ง ที่ดินทำกิน รวมทั้งปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งจะต้องหาสาเหตุของการเกิดปัญหาต่อไป
จากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 ฉบับ พบว่า มีแนวโน้ม ได้รับความร่วมมือ จากเครือข่ายต่างๆ มากขึ้น แต่เรื่องการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ มนุษยชน ยังคงต้องเร่งทำต่อไปให้ดีขึ้น สำหรับการ จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากจะต้องอาศัยการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆแล้ว ยังต้องอาศัยองค์ประกอบจากนานาประเทศ เช่น เรื่องการขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ การเข้าถึงน้ำ พลังงานที่สะอาด การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป