ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ในการสัมมนาแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คือ การที่สังคมไทยชินชากับการละเมิดสิทธิ์ รวมทั้งการทุจริต ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิ์ เนื่องจากเป็นการนำของส่วนรวม มาเป็นของตัวเอง ส่วนวิธีการเปลี่ยนให้สังคมไม่ชินชากับการละเมิดสิทธิ์ และไม่มองว่าเป็นเรื่องปกติ คือ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนหากพบเจอการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือตามความสามารถที่พอช่วยได้ ส่วนการทำให้ชุมชนจะน่าอยู่ มีความสมานฉันท์ ไม่ละเมิดสิทธิ์ คือ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน รับฟังความคิดเห็นกันและกัน ทั้งนี้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-3 ที่ผ่านมา พบว่าการเลือกปฏิบัติ การปฏิบัติสองมาตรฐาน เป็นปัญหาที่ยังไม่หมดไปจากสังคม แม้ภาครัฐจะมีการพัฒนาเรื่องต่างๆ แต่การตรวจสอบของราชการ ความไม่โปร่งใสทางการเมือง ก็ยังมีอยู่ ทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมา
ส่วนปัญหาในอนาคตด้านสิทธิมนุษยชน ที่จะเกิดขึ้น 2-3 ปี นายพิทยา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ขาดแคลนแรงงาน และมีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น ถือเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากจะเกิดทัศนคติที่มองคนต่างด้าวแตกต่างไปจากคนไทยด้วยกัน และเกิดการเลือกปฏิบัติด้านมาตรฐาน รวมทั้งการให้สิทธิ์ต่างๆ ที่ชาวต่างด้าว อาจไม่ได้รับเท่าเทียมกับคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในเรื่องสิทธิมนุษยชนและอยากที่จะให้แผนพัฒนาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในด้านการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับประเทศไทย ถือว่าเป็นประเทศที่ให้สิทธิ์กับชาวต่างชาติได้ดีมากจนน่าชื่นชม
ทั้งนี้ การที่จะให้แผนพัฒนาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประสบความสำเร็จได้นั้น ภาครัฐจะต้องให้ความคุ้มครองด้านสิทธิกับคนในทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาในประเทศไทย และสิ่งสำคัญคือความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งทุกภาคส่วน ต้องนำแผนพัฒนาสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างร่วมมือกัน
...
ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม