เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ให้ความรู้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับช้าง ใช้ธรรมชาติควบคุมปริมาณ

01 เมษายน 2560, 12:03น.


การลงพื้นที่ดูงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และการจัดการปัญหาช้างป่า ที่จ.จันทบุรี ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำหรับการแก้ปัญหาช้างป่าในประเทศไทยในอดีต จะพบว่าช้างมีจำนวนที่ลดน้อยลง มีการล่าช้างเพื่อตัดเอางาไปขาย และส่งออกต่างประเทศ จนกระทั่งภาครัฐต้องออกกฎหมายคุ้มครองช้าง เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ มีอายุยืน และมีการออกลูกครั้งละหนึ่งตัวเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี นับวันจะมีจำนวนช้างที่เพิ่มมากขึ้น จนต้องออกจากพื้นที่ป่า มารบกวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบเขาสอยดาว



นายสิทธิชัย บรรพต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปี จำนวนช้างป่าเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาในพื้นที่ชุมชน เข้ามากินผลไม้ในไร่ สวน ได้รับความเสียหาย มีประชาชน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย โดยช้างที่บุกเข้าบ้านเรือนประชาชนมักจะเป็นช้างที่ถูกขับออกจากโขลง มีนิสัยเกเร ดื้อ ชอบเข้าบ้านประชาชน มารื้อข้าวของเครื่องใช้ ทำลายบ้านเรือนเสียหาย ต่างจากช้างป่าที่อยู่เป็นโขลง จะเป็นช้างที่ออกหาอาหารในเวลากลางคืน และในตอนเช้าจะกลับเข้าป่าไปเหมือนเดิม





อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความโชคดีที่ประชาชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่เคยทำร้ายช้าง ปัจจุบันมีช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวประมาณ 400 ตัว ซึ่งพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จะมีพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ในฤดูแล้ง จะมีช้างออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก มีช้างข้ามถนน และในอดีตเคยมีอุบัติเหตุรถชนช้างในเวลากลางคืน ที่บ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และช้างที่ถูกชนก็ล้ม เมื่อช้างออกมาเดินกลางถนนในเวลากลางคืน สีผิวกับสีถนนจะกลมกลืนกัน ผู้ขับขี่มักจะแยกไม่ออก





นายสิทธิชัย ระบุว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหา มีการอบรมให้ความรู้กับประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ทั้งเรื่องพฤติกรรมของช้างและวิธีการเอาตัวรอดเมื่อพบช้าง มีการจัดตั้งเครือข่าย อาสาสมัคร ในการแจ้งเตือน เมื่อพบเห็นช้างเดินเข้ามาในชุมชน จัดทำป้ายแจ้งเตือนผู้ที่ใช้รถใช้ถนนให้ระมัดระวังช้างป่าข้ามถนน รวมทั้งขุดคูกันช้างข้ามมากินผลไม้ในสวนของประชาชน จัดทำรั้วรังผึ้ง เนื่องจากช้างกลัวผึ้งเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในการจับช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติแต่ละครั้งจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 150 คน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ป่าฯ และทหาร จึงต้องร่วมมือกัน เพื่อนำช้างกลับคืนสู่ธรรมชาติ





สำหรับการควบคุมปริมาณช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ธรรมชาติจะควบคุมปริมาณด้วยตัวเอง เนื่องจาก ในพื้นที่ดังกล่าว สัตว์จะผสมพันธุ์ในเชื้อสายเดียวกันค่อนข้างมาก เพราะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวเป็นพื้นที่ปิด ช้างไม่สามารถข้ามไปผสมพันธุ์กับช้างป่าอื่นได้ ทำให้ลูกช้างที่ออกมาพิการ ไม่สมประกอบ เมื่อพิการแล้วช้างในโขลงจะฆ่าลูกช้าง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ หรือไม่ก็เพิ่มปริมาณของผู้ล่า เช่น เสือ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ส่วนประเด็นในเรื่องการทำหมัน ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ช้างสายพันธุ์ดีสูญหายไป





ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข



 



 

ข่าวทั้งหมด

X