การลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าอีก 3-4 เส้นทาง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนหน้า เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม จะเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสายสีน้ำเงินต่อขยายจากบางแคไปถึงพุทธมณฑลสายสี่ อีกทั้งเร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ระยอง ด้วย
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 42/2559 โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง- บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยให้บริษัท BEMเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถ และซ่อมบำรุง มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ แต่เมื่อเปิดให้บริการเดินรถในส่วนเดิมและส่วนต่อขยายทั้งระบบแล้ว จะมีระยะทางรวม 47 กิโลเมตร ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ ระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน สามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย โดยการก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีความก้าวหน้าร้อยละ 91.13 ใช้ขบวนรถไฟฟ้าจำนวน 35 ขบวน และเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า 3 ช่วง คือ ช่วงบางซื่อ- เตาปูน จะเปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2560 , ช่วงหัวลำโพง-บางแค ในเดือนกันยายน 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคม 2563
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฝากถึงบริษัท BEM ให้เร่งดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้เร็วขึ้น และเดินทางด้วยความสะดวก เพราะเดิมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมี 18 สถานี หากเปิดให้บริการในส่วนต่อขยายก็จะมีทั้งหมด 37 สถานี ทำให้เกิดการเดินรถต่อเนื่องในลักษณะวงกลม ตลอดโครงการจะเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียวเริ่มต้นที่ 16 บาทและสิ้นสุด 42 บาทแต่จะมีการปรับอัตราค่าโดยสารตามดัชนีผู้บริโภค ทำให้ประชาชนฝั่งธนบุรีเดินทางเข้ามาทำงานในฝั่งพระนคร ได้สะดวก ไม่พบกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดอีก นักท่องเที่ยวก็เกิดการเดินทางในมิติแบบใหม่
...
ผสข.ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ