การจัดประชุมระดับนานาชาติ ที่มีสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เป็นเจ้าภาพว่าด้วยการหาทางบรรลุข้อผูกมัดทางกฎหมายอย่างถาวร ตามกรอบของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ( เอ็นพีที ) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา โดยมีสมาชิกยูเอ็น 123 ประเทศเข้าร่วมการหารือ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ออกเสียงเห็นชอบในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ว่าจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงปลอดอาวุธนิวเคลียร์เป็นการถาวร อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกยูเอ็นเกือบ 40 ประเทศไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนคือเกาหลีเหนือ และรวมถึงสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ทั้ง 5 ประเทศ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย จีน และฝรั่งเศส
นางนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น กล่าวว่า กระบวนการประชุมไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เนื่องจากการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวรนั้น เป็นไปไม่ได้ โดยยกตัวอย่างสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ว่าไม่มีทางที่เกาหลีเหนือจะปฏิบัติตาม แต่นางเฮลีย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เอ็นพีที มีผลบังคับใช้ สหรัฐฯ ปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองแล้วร้อยละ 85ขณะที่นางมาร์กอต วอลล์สตรอม รมว.กระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำให้จัดการประชุมในครั้งนี้ ร่วมกับออสเตรีย เม็กซิโก บราซิล และแอฟริกาใต้ กล่าวว่าการปลอดอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม
CR:AP,CNN