พระองค์ภาฯประทานรางวัล สำนักงานอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงดีเด่นให้สำนักงานอัยการภาค6พิษณุโลก/วิทิต ด้วงจุมพล รับรางวัลคนดีผู้ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงและปัญหาอาชญากรรม

24 มีนาคม 2560, 17:16น.


การมอบรางวัลสำนักงานอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงดีเด่นประจำปี พ.ศ.2559 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กของสำนักงานอัยการสูงสุด ในการนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาประทานรางวัล แก่จังหวัดที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สำนักงานอัยการภาค 6 ทีมจังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ สำนักงานอัยการภาค 4 ทีมจังหวัดขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ สำนักงานอัยการภาค 2 ทีมจังหวัดระยอง  และยังประทานรางวัล คนดีผู้ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงและปัญหาอาชญากรรม ประกอบด้วย กรณีช่วยไล่จับคนร้ายลักทรัพย์ 2 รางวัล กรณีช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขับรถไล่ตามพนักงานรถทัวร์ที่ลักทรัพย์ 1 รางวัล กรณีกระโดดจากสะพานสูงลงแม่น้ำมูลช่วยชีวิตหญิงชราที่จะฆ่าตัวตาย 3 รางวัล และกรณีเก็บทรัพย์สินผู้โดยสารที่ลืมไว้บนรถแท็กซี่ 1 รางวัล คือนายวิทิต ด้วงจุมพล คนขับรถแท็กซี่ที่เก็บทองคำและเงินสดมูลค่าเกือบ 3ล้านบาท ประสานงานสถานีวิทยุ จส.100 ส่งคืนเจ้าของ





นายสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายอำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวว่า โครงการในปีนี้ ต่างจากปีที่ผ่านๆ มา ที่เคยเน้นเผยแพร่ความรู้ เรื่องการยุติความรุนแรงในภาพกว้าง แต่ในปีนี้เน้นนำยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาปรับใช้ พร้อมทำงานประสานในแบบสหวิชาชีพร่วมกับหน่วยงานในชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยนำร่อง9 จังหวัด พร้อมจัดอบรม ก่อนไปลงพื้นที่ปฏิบัติจริงและนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการพิจารณา 



นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานจาก 9 จังหวัดนำร่อง ระบุว่า การแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงส่วนใหญ่ ยังใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งเป็นแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ควรมองการป้องกัน ปัญหาความรุนแรงโดยสร้างจิตสำนึก ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้สังคมได้รับรู้ ทั้งนี้ลักษณะการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาแบบรายคดี จึงมีผลการแก้ไขเป็นรายบุคคลที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นจึงควรหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงให้ครอบคลุม ทั้งหมด และมองการแก้ปัญหาโดยให้ผู้หญิงและเด็กเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ในกระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ต้องเป็นมิตรกับผู้ถูกกระทำมากกว่ามุ่งค้นหาแต่ความจริงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งเกิดความรุนแรงต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ โดยไม่เจตนา ทั้งนี้การป้องกันความรุนแรงมีความสำคัญเทียบเท่ากับการแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะต้องสร้างความตระหนักให้กับสังคม ให้ได้รู้ถึงข้อกฎหมายและสร้างค่านิยมของการไม่ใช้ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก ส่วนแนวทางในการพัฒนาขั้นต่อไปคือการผลักดัน ให้เกิดความร่วมมือในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องเด็กและผู้หญิงมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้คุณค่าความสำคัญกับการยุติความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะต้องตระหนักในเรื่องนี้ มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ผู้ถูกกระทำมากยิ่งขึ้น

ข่าวทั้งหมด

X