ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.
+++แก้ปัญหาหมอกควัน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินฝนหลวง กองทัพอากาศ ร่วมปฏิบัติการกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 12 เครื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ และการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ซึ่งนำมาใช้ปฏิบัติการจริงเป็นปีแรก โดยจะเริ่มปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 15มี.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันว่าขณะนี้ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน(PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 70 -160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าระหว่าง 69 -118 ทำให้ภาพรวมคุณภาพอากาศ อยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยมี 2 จังหวัด มีปริมาณฝุ่นละอองหรือหมอกควันในอากาศ เกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพสถานการณ์ ได้แก่ จ.ลำปาง และ จ.เชียงราย ซึ่ง จ.ลำปาง ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเท่ากับ 160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ มีค่า 118 ถือว่ามีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่ง ผลกระทบต่อสุขภาพ และ จ.เชียงราย ในพื้นที่ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่า 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
+++ความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีน เริ่มชัดเจนมากขึ้น โครงการจัดหาเรือดำน้ำลำแรก มูลค่า 13,500 ล้านบาท ผ่านการพิจารณากรอบงบประมาณปี 2560 จาก สนช. และที่ประชุมสภากลาโหมแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่ากองทัพเรือเตรียมนำเสนอรายละเอียดประเด็นต่างๆ ของเรือดำน้ำส่งให้ พล.อ.ประวิตร พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคมนี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบโครงการในสัปดาห์หน้า หากผ่าน ครม. ก็เริ่มกระบวนการสร้างเรือดำน้ำ ซึ่งใช้เวลาราว 6 ปี ส่วนโรงซ่อมบำรุงใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี
+++กองทัพเรือกำหนดพื้นที่ด้านทิศเหนือของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช จำนวน 40.78 ไร่ เป็นสถานที่สร้างโรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ออกแบบเป็นอาคารกว้าง 50 เมตร ยาว 100 เมตร และสูง 25 เมตร สามารถรองรับเรือดำน้ำได้พร้อมกัน 2 ลำ โดยเมื่อเรือดำน้ำถึงวงรอบที่จะต้องเข้ารับการซ่อมบำรุง ก็จะกลับเข้าหาฝั่งด้วยการเข้าจอดภายในอู่ที่ติดตั้งลิฟต์สำหรับยกเรือ จากนั้นเรือดำน้ำจะถูกลากไปตามรางเข้าสู่โรงซ่อม
+++ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ย้ำว่า ทำไมกรมสรรพากร ไม่ใช้มาตรา 61 นั้น เป็นช่องทางชัดเจนที่สุดและดำเนินการได้เลย เพราะคำพิพากษาของศาลข้อเท็จจริงฟังเป็นข้อยุติ เพราะศาลต้องฟังความและหลักฐานมาจึงสรุปว่าเป็นของใคร
+++ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใช้อำนาจมาตรา 44 เรียกนายทักษิณมายื่นแบบเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปภายในเดือนมีนาคมนี้ พร้อมระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของกรมสรรพากรที่ไม่ได้ออกหมายเรียกนายทักษิณมายื่นแบบแสดงรายได้ภายใน 5 ปี แต่ขณะนี้ก็ยังอยู่ในระยะ 10 ปีที่กฎหมายให้อำนาจด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เงินภาษีถึง 16,000 ล้านบาท เป็นพันธะของผู้ขาย และเป็นผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้ และ คสช.เป็นองค์อธิปัตย์มีอำนาจบังคับผู้ขายได้ภายในวันเวลาที่กำหนด ส่วนกรมสรรพากรที่ไม่ได้ออกหมายเรียกนายทักษิณภายใน 5 ปี รัฐบาลควรไปไล่เบี้ยว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะเข้าข่ายความผิดข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา
+++นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินการหลังจากนี้ว่า ยังไม่ได้สั่งกรมสรรพากรให้ทำอะไรเพิ่มเติม แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากรในปัจจุบันได้รับการชี้แจงว่า การดำเนินการเรียกเก็บภาษีต้องยึดตามกฎหมาย ไม่สามารถเลือกปฏิบัติกับรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษได้ ซึ่งเมื่อหลักกฎหมายระบุเช่นใดต้องปฏิบัติตาม และยืนยันว่าทีมสรรพากรปัจจุบันไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพราะอำนาจการออกหมายเรียกสิ้นสุดไปตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว
+++นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระหว่างบริษัท การบินไทยกับแอร์บัส ว่าความร่วมมือนี้จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก นายฟาบริซ เบรจิเย่ ประธานบริษัท แอร์บัส กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสอดรับกับความต้องการซ่อมบำรุงรักษาในภูมิภาคที่เติบโต รองรับผู้ให้บริการการบินที่จะเพิ่มขึ้นสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่า 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
+++การติดตามการดำเนินคดีกลุ่มวัยรุ่นที่รุมทำร้ายนายธีระพงษ์ ฐิตะฐาน หรือ ปอนด์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ภายในหอพักแห่งหนึ่ง โดยใช้ไขควงแทงจนบาดเจ็บและเสียชีวิตเวลาต่อมา พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งโอนคดีความจากสถานีตำรวจภูธรชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มาอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทําลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมกับครอบครัวของนายธีระพงษ์ ได้เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรม ขอโอนย้ายคดี เพื่อจะง่ายต่อการเบิกความในชั้นศาล รวมถึงที่ผ่านมามีการข่มขู่พยานด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าตำรวจในพื้นที่ยังทำสำนวนด้วยความยุติธรรม รอบคอบ ทั้งนี้ นอกจากผู้ต้องหา16 รายที่เข้ามารับทราบข้อกล่าวแล้ว ยังมีคนอื่นร่วมด้วยกว่า20 คน แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
+++กรณีกรมการขนส่งทางบกให้เข้มงวดกวดขันการให้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นหรือของรถอูเบอร์ ที่ผิดกฎหมาย นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการจับกุมเพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติม แต่เฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรม ตามที่มีผู้แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลมา โดยร่วมกับตำรวจ ทหาร ปกครอง ตั้งด่านและออกตรวจตราตามสนามบิน รถไฟ ขนส่งอาเขต โรงแรม ศูนย์การค้า แหล่งช้อปปิ้ง และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นหลัก ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่ได้มีแนวคิดที่จะเสนอใช้ ม.44 เพื่อปิดบริการแอพพลิเคชั่นดังกล่าวและแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ถ้ามีประชาชนร้องเรียกมา กรมการขนส่งทางบกก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะรถป้ายดำถือเป็นรถส่วนบุคคลจะมารับจ้างไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายของไทยอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่ว่ามีการไล่จับรถอูเบอร์ในขณะนี้ ก็ไม่ถือเป็นการไล่จับ เพราะถือเป็นความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสารรถสาธารณะ อย่างแท็กซี่ให้บริการตามปกติ ดำเนินการถูกต้องก็เดือดร้อนเหมือนกัน จากการที่ถูกแย่งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามกระทรวงก็ไม่ได้ขัดข้อง หากอูเบอร์นำรถมาจดทะเบียน เพื่อให้สามารถบริการได้ถูกต้องตามกฎหมาย
+++ข้อมูลเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการงัดกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารที่ใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจผสมพื้นที่ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารบริเวณใต้อาคารผู้โดยสาร เป็นรอบเวลา วันละ 8 รอบๆ ละ 2 ชม. ส่วนของการสืบสวนจับกุม ได้มีการจับกุมพนักงานขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระ ดำเนินคดีในความผิดฐานลักทรัพย์ในท่าอากาศยาน ตั้งแต่ ต.ค. 2559 ถึง ปัจจุบัน ส่งดำเนินคดี 15 ราย ครั้งสุดท้ายจับกุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 59 อยู่ระหว่างฝากขัง กรณีมีผู้โพสต์ลงข้อความ มาแจ้งความว่าเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 60 เมื่อถึงปลายทางพบกระเป๋าสัมภาระมีร่องรอยการงัดแงะ เชื่อว่าอาจถูกงัดแงะที่สนามบินสุวรรณภูมิ เบื้องต้นจึงมาขอลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ได้เรียกผู้โพสต์มาให้ข้อมูลเพื่อขอทราบรายละเอียดที่แน่ชัดแต่ยังไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวน จึงได้แจ้งฝ่ายสืบสวนดำเนินตรวจสอบผู้ทำหน้าที่ขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระเที่ยวบินที่ผู้โพสต์อ้างถึงมารวบรวมทำประวัติและเก็บตัวอย่างลายนิ้วมือไว้แล้วโดยแนะนำให้สายการบินทุกสายการบินควรติดกล้องวงจรปิดไว้ท้องเครื่อง เนื่องจากตามสถิติพบว่าสายการบินเอมิเรตส์ ได้มีการดำเนินการแล้ว ไม่พบว่ามีการมาแจ้งความทรัพย์สินของผู้โดยสารสายการบินดังกล่าวสูญหายแต่อย่างใด