*รอดชีวิตแล้ว

15 กรกฎาคม 2557, 16:32น.


ยังคงติดตามอาการเต่า กระดองแตก ผ่านมาแล้ว9วัน หลังจากที่”เจ้าโชค” เต่าบัว อายุ20ปี ถูกนำมารักษาที่ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากถูกทุบกระดองแตก ขณะที่ข้อเท็จจริง ปรากฎว่า เจ้า”โชค” เป็นเต่าบัว ไม่ใช่เต่านา สังเกตได้จากลายกระดองเต่า



วันนี้ ผู้สื่อข่าว นัดหมาย รศ.สัตว์แพทย์หญิง ดร. นันทริกา ชันซื่อ ทีมสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอเข้าดูอาการเต่าบัว ตัวดังกล่าว พบว่า อาการโดยรวม ดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีเลือดออกแล้ว แต่สัตวแพทย์ธีระยุทธ วนากิตติเสถียร  คุณหมอผู้ดูแลเต่าตัวดังกล่าว ยังคงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งใน1วัน คุณหมอจะต้อง ให้น้ำเกลือ วิตามิน ยาฆ่าเชื่อ แคลเซียม และต้องล้างแผลวันละ1ครั้ง พร้อมทั้งจะต้องระวังไม่ให้แผลติดเชื้อ



สำหรับ วันนี้ยังเป็นวันแรก ที่ คุณหมอทั้ง2 มีกำหนดจะให้อาหารเต่าเป็นวันแรก คุณหมอนันทริกา นำผักปลอดสารไปปั่นเพื่อนำมาให้อาหารเต่าผ่านทางสายยาง พบว่า เต่าเริ่มกินอาหารได้ ไม่มีอาการสำลัก นอกจากนี้ คุณหมอยังนำถังน้ำที่มีน้ำ มาวางไว้ด้านหน้าของเต่า เพื่อให้เต่าเอาหน้าจุ่มน้ำ โดยคุณหมอเล่าว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาพจิตใจของเต่า เนื่องจากเต่าเป็นเต่าน้ำ จึงจะรู้สึกดีเมื่อได้สัมผัสกับน้ำ แต่เพราะบาดแผลยังมีขนาดใหญ่และเสียงต่อการติดเชื้อ คุณหมอจึงช่วยผ่อนคลายความเครียดของเต่าได้เพียงให้เอาหน้าจุ่มน้ำ หรือเอาน้ำใส่ขวดสเปรย์ฉีดในจุดที่ไม่มีบาดแผล นอกจากนี้คุณหมอยังเตรียมแผนดูอาการเต่า หากดีขึ้นจะให้เริ่มลงน้ำ เพื่อให้เต่าใช้ใช้อดในการหายใจมากขึ้น เพราะ ปอดได้รับผลกระทบจากบาดแผลมาก จึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกสักระยะหนึ่ง



การรักษาต่อจากนี้ จะต้องอยู่ดูอาการและรักษาที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ประมาณ2-3เดือน จากนั้นจะนำไปรับการรักษาในพื้นที่ที่เต่าสามารถรับแสงแดดได้ ประมาณ 5-6เดือน



สำหรับเศษก้อนหินที่ยังติดอยู่ภายในกระดองของเต่า รวมถึงบางส่วน เข้าไปอยู่ในอวัยวะภายใน โดยเฉพาะที่ลำไส้ ทีมสัตวแพทย์จะปล่อยให้เต่าฟื้นตัว ก่อนจากนั้นจะมีการเอ็กซเรย์ ซึ่งหากเต่าสามารถขับก้อนหินออกมาได้ตามธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่หากก้อนหินส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิต ทีมแพทย์ก็จะต้องหาแนวทางรักษาต่อไป



ส่วนกระดองเต่าที่ถูกทุบแตกนั้น ร่างกายของเต่าจะสร้างขึ้นมาทดแทน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายเต่าด้วย ต้องรอดูไปทีละขั้นตอน  เพราะในอดีต เคยมีการสร้างกระดองเทียมให้ แต่มีปัญหาที่กระดองเทียมแสงแดดส่องลงไปไม่ถึงให้ตัวเต่าทำให้เกิดอาการเน่าได้ต้องกลับมารักษาอีกครั้ง



คุณหมอนันทริกา ยืนยันว่า เบื้องต้น เต่าตัวนี้ น่าจะมีชีวิตรอดแล้ว แต่ยังจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีคนเข้าใจว่า เต่าตัวนี้เป็นเต่านา คุณหมอธีระยุทธ เปิดเผยว่า เป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากความจริงเต่าตัวนี้เป็นเต่าบัว ซึ่งความแตกต่างของเต่าบัว กับเต่านา คือ ขนาดตัวของเต่าบัวจะใหญ่กว่าเต่านา ส่วนหน้าเต่านาจะโตกว่าเต่าบัว และมีลายสีขาว ส่วนเต่าบัวหน้าจะมีลายสีเหลือง



บุศรินทร์/ภาพ-ข่าว

ข่าวทั้งหมด

X