ความคืบหน้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ. อยู่ในพระราชอำนาจ ส่วนการเปิดเผยเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างการเรียบเรียง คิดว่าจะนำเรื่องนี้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 21 ก.พ. จากนั้น รัฐบาลจะเปิดเผยต่อไปในเร็วๆนี้ จึงขอให้รอฟังรายละเอียดจากรัฐบาล
เมื่อถามถึงโรดแม็พไปสู่การเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ขั้นตอนที่จะทำอะไรก่อนหลังแต่ละขั้นมีระยะเวลาเท่าใดนั้น มีไว้แล้ว เพียงแต่ยังหาวันเวลานับหนึ่งของแต่ละขั้นยังไม่ได้ และวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวกำหนดอะไรหลายอย่าง การเลือกตั้งต้องดำเนินการภายใน 150 วันหลังจากเริ่มบังคับใช้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยืนยันว่า ทุกอย่างในโรดแม็พยังเป็นอย่างเดิม แต่อย่าเพิ่งคาดคั้นเวลา เพราะยังหาเวลาเริ่มต้นที่ชัดเจนไม่ได้
นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 7 คนที่ถูกเปิดเผยว่าขาดการลงมติในที่ประชุมสนช.บ่อยครั้ง ให้ลาออกจากตำแหน่ง ว่า ไม่ขอให้ความเห็น มองว่า ระเบียบข้อบังคับของสนช.ไม่มีช่องโหว่ ถูกเขียนไว้ดีแล้วให้เกณฑ์กำหนดจำนวนครั้งการลาหรือขาดประชุม อยากให้นำข้อบังคับแบบนี้ไปใช้ในสภาสมัยหน้าด้วย ขณะที่ รัฐบาลกำชับข้าราชการที่เป็นสมาชิกสนช.ด้วยให้เข้าร่วมประชุมเพื่อช่วยกันอภิปรายและลงมติเมื่อมีร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสนช. แต่ในที่ประชุมสนช.มีเรื่องอื่นๆอีกมาก รัฐบาลจึงไม่ได้ตามไปกำชับ แต่โดยทั่วไป คิดว่าถ้ามีปัญหาเพียง 7 คนตามที่เป็นข่าว ก็ยังมีอีก 200 กว่าคนที่ไม่มีปัญหา ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการที่สมาชิกสนช.บางส่วนต้องทำงานในตำแหน่งอื่นด้วย เพราะแม้คนเหล่านี้มีหมวกหลายใบ แต่ไม่ได้มาสวมพร้อมกัน ทุกคนควรทำหน้าที่ของตัวเองที่มีในปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว
แฟ้มภาพ