กลุ่มค้านโรงไฟฟ้ากระบี่ ไม่พอใจมติกพช.ประจันหน้าตำรวจ หน้าทำเนียบ

17 กุมภาพันธ์ 2560, 14:26น.


บรรยากาศด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะนี้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่เดินทางมารอฟังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ลุกขึ้นยืน บริเวณทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ด้านถนนพิษณุโลก  ด้วยการแสดงความไม่พอใจ หลังที่ประชุมกพช.ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติเดินหน้าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยผู้ชุมนุมยังคงยืนปักหลักเพื่อคัดค้าน พร้อมร้องเพลง และส่งเสียงร้องว่า ไม่เอา อยู่เป็นระยะ เป็นเพียงการยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตำรวจนครบาล1 และ หน่วยอารักขาควบคุมฝูงชน คอยดูแลความเรียบร้อย



ด้านพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากโครงการดังกล่าวล่าช้ามากว่า 2 ปี ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ ร้อยละ 42 ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและสะอาด ในส่วนของพื้นที่ทางภาคใต้ต้องใช้กำลังไฟจากภาคกลางเพิ่มเติม 400-500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่นี้จึงเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะหากไม่มีการดำเนินการ จะต้องออกมาตรการประหยัดไฟในพื้นที่ภาคใต้



นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อย้อนดูสถิติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 10 ปี พบว่าภาคใต้มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ  4.7 ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงกับปริมาณการใช้ โดยในแต่ละพื้นที่มีโรงไฟฟ้ารองรับ แต่ในส่วนของอันดามัน ประกอบไปด้วย จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง ถือเป็นจุดอ่อน เพราะโรงไฟฟ้าผลิตกระแสไฟได้น้อยกว่าความต้องการ จึงต้องส่งไฟจากโรงไฟฟ้าแหล่งอื่นเข้าไปเสริม ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เพิ่ม จะเข้าไปทดแทนกำลังไฟในส่วนนี้ได้



นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ ใช้พลังงานทดแทนขนาดจิ๋ว ทดลองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี เพื่อให้เกิดการสร้างแก่บุคลากรในพื้นที่ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 ระหว่างไทยกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 515 เมกะวัตต์ รวมทั้ง  รับทราบความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในประเทศกัมพูชาที่จะนำน้ำในโครงการมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม  

ข่าวทั้งหมด

X