การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจ.กระบี่ยืดเยื้อมานาน แม้ภาครัฐจะให้เหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้าง เพราะกังวลความ มั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตไม่เพียงพอ แต่ประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้าน ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนเดิม มาแล้ว 2 ปี ในวันนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และกระทรวงพลังงานจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกพช.ให้ชี้ขาดอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเสนอ กพช. ในการประชุมวันนี้ (17 ก.พ.)
โดยก่อนการประชุมขณะนี้ มีกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ มาชุมนุม โดยเดินรอบทำเนียบรัฐบาลพร้อมถือธงและป้ายคัดค้าน ซึ่งได้มีการ เสนอให้ใช้โรงไฟฟ้าผลิตจากน้ำมันปาล์มแทน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อวิ่งแวดล้อม ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านได้ระบุว่า หากในวันนี้นายกรัฐมนตรีมีมติไม่ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ทุกคนก็จะเดินทางกลับ อย่างไรก็ตามหากมติออกมาให้ดำเนินการก่อสร้าง ก็จะปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลต่อไป
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนันตพร ระบุว่า การประชุม กพช. น่าจะได้ข้อสรุปโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กำลังการผลิต800เมกะวัตต์ ว่าจะเดินหน้าโครงการหรือไม่โดย กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอ กพช.ให้พิจารณาเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ตามมติ กพช.เดิม ที่อนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ปี2558-2579ที่กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน ไว้23%ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และภาคใต้มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี
หาก กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กระทรวงพลังงาน จะเดินหน้าก่อสร้างตามแผน ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ช่วงปลายปี2564หรือ อย่างช้าต้นปี2565 จากที่โครงการดังกล่าวต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2562หรือ ล่าช้ามา2ปีแล้ว แต่หาก กพช.ไม่เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือเตรียมแผนรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ เช่น การลงทุนก่อสร้างสายส่ง เพื่อดึงไฟฟ้าจากส่วนกลางเข้าไปใช้ในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ารวมถึง หามาตรการเพื่อดูแลภาคเอกชนในพื้นที่ ให้มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะรองรับขยายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด เดือน เม.ย.ปี 2559 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 2,630 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่ผลิตได้ 2,225 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอราว305เมกะวัตต์ จึงต้องดึงกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยเสริมความต้องการใช้ และรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มเติม