การเปิดเวทีเสวนาอุปสรรคของการปกป้องเสรีภาพสื่อในโลกที่แตกแยก(The Challenges of Protecting Press Freedom in a Divided World) นายเทพชัย หย่อง สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การนำเสนอข่าวในประเทศขณะนี้ว่า หลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาปฏิรูปประเทศรวมถึงปฏิรูปสื่อมวลชนด้วยการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และ มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเป็นการควบคุมการทำงานของสื่อ และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลซึ่งจะต้องมี4คนที่จะต้องมาจากรัฐบาล โดยสามารถเพิกถอนความเป็นองค์กรสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ หากพ.ร.บ นี้ออกมา จะเป็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พยายามต่อต้านพ.ร.บ. ดังกล่าว เพราะเท่ากับว่ารัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ โดยมองว่าการที่สื่อด้วยกันเองทำหน้าที่กำกับดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
นาย U Thiha Saw กรรมการบริหารสถาบันฝึกอบรมผู้สื่อข่าวเมียนมา และผู้แทนจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมียนมา กล่าวว่า เมื่อก่อนสมัยที่เมียนมามีรัฐประหาร ก็มีพ.ร.บ.สื่อสิงพิมพ์ออกมา ที่คอยกำหนดว่า ก่อนจะนำเสนอเนื้อหาต้องส่งมาให้รัฐบาลตรวจสอบก่อน แต่เมื่อปี2012 เมียนมาเริ่มมีการปฏิรูปสื่อให้มีความเสรีภาพมากขึ้น จนกระทั่งขณะนี้ที่เป็นรัฐบาลสมัยของนางออง ซาน ซูจีเปิดโอกาสให้สื่อมีความอิสระมากขึ้นเช่นกัน โดยไม่ต้องส่งเนื้อหาที่จะนำเสนอมาให้รัฐบาลตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมาย66 D ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เข้ามาควบคุมข้อความที่สื่อเขียน หากใครเขียนข้อความที่ทำลายเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีโทษจำคุกสูงสุด3ปี ซึ่งมีนักข่าวที่ถูกลงโทษในลักษณะนี้จำนวนมาก ทั้งนี้สื่อของเมียนมามีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายและตัวเจ้าของสื่อเอง เพราะต่อให้สื่อเป็นบริษัทเอกชนก็ตามแล้ว แต่ส่วนใหญ่เจ้าของก็ยังเป็นคนของรัฐบาลอยู่ดี หากเจ้าของไม่พอใจกับการทำงานของเราก็จะถูกไล่ออก
ด้านนาง Nezar Patria คณะกรรมการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย ระบุว่า ก่อนปี1998อินโดนีเซีย มีระบบการปกครองแบบเผด็จการ ทำให้สื่อไม่มีเสรีภาพ แต่หลังปี1998 สื่อเริ่มมีเสรีภาพ สิทธิการแสดงออก และประชาชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ขณะนี้อินโดนีเซียยังพบปัญหา สื่อเลือกข้างนักการเมือง ถึงแม้อินโดนีเซีย ได้มีการตั้งสภาสื่อมวลชน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากองค์กรต่างๆขึ้นมาเพื่อช่วยกันกำกับดูแลสื่อด้วยกันเองก็ตาม ซึ่งสมาคมก็พยายามหามาตรการเข้ามากำกับสื่อให้เป็นกลางมากขึ้น รวมถึงเข้ากำกับสื่อที่มักชอบสร้างข่าวลวงขึ้นมาอยู่
นายStaffan Herrström เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวถึงเสรีภาพของสื่อในประเทศสวีเดนว่า เสรีภาพไม่ใช่เรื่องของการออกกฎหมายแต่เป็นเรื่องที่ปลูกฝังอยู่ในใจประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งการออกกฎหมายเสรีภาพนี้จะคำนึงถึงหลัก3หลัก คือ ประชาชนหรือนักโทษ ทุกคน มีสิทธิตีพิมพ์นำเสนอข่าวได้ ,ไม่มีการเซ็นเซอร์จากรัฐบาล หากมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา สำนักพิมพ์ จะเป็นผู้ที่ไปขึ้นศาลเอง เพราะถือเป็นการคุ้มครองนักข่าว ,และประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างๆของรัฐบาลได้ โดยจะเห็นได้ว่า สวีเดนมีอัตราการคอรัปชั่นต่ำมากเนื่องจาก การนำเสนอข่าวมีความเสรี ภาพ นำเข้าถึงข้อมูลมาก ทำให้ผู้ที่คิดจะคอรัปชั่นเกรงกลัว
นางสาวSatu Suikkari-Kleven เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีการจัดลำดับเสรีภาพโลกเป็นอันดับหนึ่งมา 7 ปีซ้อน ซึ่งฟินแลนด์สนับสนุนเสรีภาพสื่อ เพื่อกระตุ้นให้สังคมออกมาพูดความจริงมากขึ้นและลดข่าวลือ รวมถึงลดการใช้ Hate Speech ด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่ฟินแลนด์ ครองแชมป์มา7ปีซ้อนนั้น เกิดจากการที่สื่อกำกับดูแลกันเอง โดยการตั้งสมาคมสื่อสารมวลชนขึ้นมา ประกอบกับรัฐบาลทำงานมีความโปร่งใส ซึ่งหน้าที่ของสมาคมคือการหากฎที่องค์กรสื่อแต่ละองค์กรควรปฏิบัติหากมีสื่อใดที่ กระทำผิดจะต้องพิมพ์คำขอโทษลงไปในสำนักข่าวตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอายมาก นอกจากนี้สมาคมสื่อสารมวลชน ยังได้มีการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆจากประชาชน เพื่อนำมาตรวจสอบ อีกทางหนึ่ง ทำให้แนวโน้มการร้องเรียนของชาวฟินแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ