มีรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย การดำเนินคดี อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพวกในการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยระบุว่าข้อเท็จจริงกรณีการดําเนินคดี พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก
ด้วยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 15.30 น. ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของเจ้าพนักงาน ประกอบด้วย พ.ท.สิริรัฐ หนองแสง โดย ร.ต.จํารูญ ปาธิสุทธิ์ หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อย ประจํา อ.วังน้ําเขียว สังกัด กองพันทหารราบ มทบ.21, นายเสกสรรค์ เที่ยงพลับ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หัวหน้า เขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 2 (สวนห้อม) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตํารวจ กองบังคับการปราบปราม กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ ตํารวจ สภ.วังน้ำเขียว ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ เลขที่ 163 หมู่บ้าน สุขสมบูรณ์ หมู่ที่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมี นางติ๋ม อุทัศน์ อายุ 47 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 242 บ้านน้ำซับ หมู่ที่ 11 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รับจ้างดูแลและทําความสะอาดบ้านพัก เป็นผู้ร่วมตรวจสอบและให้ข้อมูลกับ เจ้าพนักงาน ผลการตรวจสอบพื้นที่มีรายละเอียดดังนี้
บ้านพักตั้งอยู่บนพื้นที่ราบติดลํารางสาธารณะ มีรั้วรอบพื้นที่ มีทางเข้าติดกับถนน สาธารณะ ภายในมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารที่พักและอาคารอื่น ๆ จํานวน 6 หลัง
จากการสอบถาม นางติ๋ม ซึ่งรับจ้างทํางานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ได้ความว่า ที่ดินและบ้านพักเป็นของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ซึ่งสร้างไว้เพื่อพักผ่อน และนาน ๆ จะมาพักครั้งหนึ่ง โดยเป็นที่ดินที่ พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร และ นางชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) เป็นผู้มอบให้ พล.ต.อ.จุมพล ต่อมา นางติ๋ม ได้นําเจ้าหน้าที่ทหาร คือ ร.ต.จํารูญ เข้าตรวจดูภายในบ้านพัก พบภาพถ่ายของ พล.ต.อ.จุมพล และภรรยา ตั้งอยู่ภายในบ้านหลายจุด เจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจยึดไว้แล้ว
ในการตรวจวัดพื้นที่โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม (GPS) จํานวน 6 จุด พบว่าพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 13 ไร่ 1 งาน 75 ตร.ว. และเมื่อตรวจเปรียบเทียบกับแผนที่ แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ พบว่าบริเวณที่ก่อสร้างบ้านพัก ตั้งอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน”
สําหรับความเป็นมาของพื้นที่ก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ.2506 คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวเป็นป่าไม้ถาวร
ในปี พ.ศ.2515 มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้พื้นที่วังน้ำเขียว ท้องที่ ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว
ต่อมาในปี พ.ศ.2521 มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกําหนดเขตที่ดินในท้องที่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.ปักธงชัย และ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
ในปีพ.ศ.2524 มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกําหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และตําบลสระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่า แก่งดินสอ-ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่มโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน
ในปีพ.ศ.2528 มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว
ปีพ.ศ.2515 แต่กําหนดให้เฉพาะพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวในท้องที่ ต.จะเข้หิน อ.ครบุรี และ ต.วังน้ําเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ภายในเขตตามแผนที่ท้าย กฎกระทรวง เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ในปี พ.ศ.2551 นางชญานิศฐ์ หรือป้อม พรหมมิจิตร (พิศิษฐวานิช) ปลัด อบต.ไทยสามัคคี เป็น ผู้ครอบครองที่ดินแปลงเกิดเหตุ และเป็นแฟนกับ พ.ต.ท.พงษ์เดช พรหมมิจิตร รอง ผกก.หน.สภ.วังน้ําเขียว (ยศและตําแหน่งในขณะน้ัน)
ในปี พ.ศ.2554 พ.ต.ท.พงษ์เดช และนางชญานิชฐ์ ร่วมกันขายที่ดินแปลงเกิดเหตุให้ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผบช.ภ.3 (ยศและตําแหน่งในขณะนั้น) และเริ่มก่อสร้างบ้านพัก และปรับภูมิทัศน์ที่ดินเพื่อพักอาศัย โดย พล.ต.อ.จุมพลฯ ได้ยึดถือครอบครองทําประโยชน์ เช่น มาพักผ่อนช่วงวันหยุด มีการจัดเลี้ยงช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยจ้าง นางติ๋ม อุทัศน์ คอยดูแล ทําความสะอาด และให้เงินเดือนทุกเดือน ส่วนการถือ ครองที่ดินตามหลักฐานการเสียบํารุงท้องที่ มีนางชญานิศฐ์ เป็นผู้ถือครองแทน
ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่และการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น พบว่ามีการกระทําความผิดจริง จึงได้มอบหมายให้ นายผาด บัวบาน พนักงานพิทักษ์ป่า ระดับ ส. 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ดําเนินคดีกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย, พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมวิจิตร และ นาง ชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อสร้าง หรือทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่าหรือเข้ายึดถือ หรือครอบครอง ป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต, ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ก่อนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น ตามพะราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 55 , ร่วมกันยึดหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า, ทําด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทําให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 (1),(4) , ร่วมกันกระทําด้วยประการใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทําลายหรือทําให้สูญหาย แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทําลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 , ร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ทําประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทําไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สภ.วังน้ําเขียว ได้รับคําร้องทุกข์ไว้แล้ว ตามคดีอาญา เลขที่ 43/2560 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2560 ซึ่งจะได้ดําเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตาม กฎหมายต่อไป.
..
สตช.