ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง เพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างเกิน1ล้านบาท

07 กุมภาพันธ์ 2560, 17:44น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลโดยให้นายจ้าง เป็นผู้จ่าย ซึ่งมีการแก้ร่างกฎกระทรวงฉบับเก่า ถึงกรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่วันแรกที่รับการรักษาให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง จนสิ้นสุดการรักษา หรือหากมีการเข้า รับการรักษา ในโรงพยาบาลของรัฐ ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่หากไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรก ยังคงกำหนดค่ารักษาพยาบาล ที่ 1,000,000 บาทเท่าเดิม  แม้ในกฎกระทรวงประกาศว่าให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงเป็นกองทุนประกันสังคม ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยนายจ้างไม่ได้มีภาระการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น แต่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่านั้น



นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังอนุมัติการพักชำระหนี้ ให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยทางภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร ให้นำเงินสำหรับพักชำระหนี้ไปปรับปรุง การผลิตให้ดีขึ้น โดยเกษตรกรผู้เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธกส. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จะมีการขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ออกไปไม่เกิน 2 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ส่วนเกษตรกรที่ไม่เป็นหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จะลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเวลา 2 ปี ส่วนเกษตรที่เป็นหนี้ NPL จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี โดยธนาคาร ธกส.จะเป็นผู้รับภาระทั้งหมด นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเสนอมาตรการเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อ ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกร หากเป็นลูกค้า ธกส. ในพื้นที่ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ให้สินเชื่อ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี  โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตให้แก่ เกษตรกร ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน โดยธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี โครงการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก ให้สินเชื่อร้อยละ 10 ของวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม สูงสุดรายละไม่เกิน 5,000,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี



ด้านนายกอรปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ในอนาคตจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมได้พิจารณา ถึงความต้องการของอุตสาหกรรมอากาศยาน จึงสร้างกิจกรรมที่เหมาะกับประเทศไทยขึ้น ประกอบด้วย การซ่อมบำรุง การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน การผลิตบุคลากรด้านการบิน โดยวางแผนว่าอีก 15ปีข้างหน้าจะจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

ข่าวทั้งหมด

X