การยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
นายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าพรรคขอทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการ เพราะยังมีหลายมาตราที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังไม่ได้รับการพิจารณาหรือปรับแก้ให้เหมาะสมตามที่พรรคการเมืองท้วงติงไป ทั้งที่เวลาผ่านมานานแล้ว และเห็นว่า กรธ. ควรเปิดเผยความคืบหน้าในการทำงานเป็นระยะ เพื่อให้มีการติดตามการทำงาน สามารถทักท้วง และศึกษา เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในกฎหมาย
โดยในประเด็นการบริจาคเงินเข้าพรรคการเมือง นายราเมศ เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสนับสนุนการเงินให้พรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองขับเคลื่อนไปได้
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง เสนอรัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายเพื่อให้มีการเปิดโอกาสผู้ให้สินบน เมื่อรับสารภาพแล้วจะมีโทษแค่ปรับอย่างเดียว นายราเมศ ไม่เห็นด้วย และอยากให้รัฐบาล ฟังความเห็นจากประชาชนในการปราบทุจริตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะหากรัฐบาลทำตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง จะมีผลกระทบต่อความผิดอีกหลายความผิด ทั้งกระทบต่อฐานความผิดของเจ้าพนักงาน ส่งผลกระทบให้เกิดการวิ่งเต้นไปยังอัยการ-พนักงานสอบสวน กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้กระทำความผิดเมื่อโดนจับก็จะแค่รับสารภาพและเสียค่าปรับท่านั้น เป็นเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทุจริตมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้มีการทำกฎหมาย จัดซื้อ จัดจ้าง ขอหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จึงอาจเป็นการเปิดช่องให้ทุจริตได้ ดังนั้นเมื่อมีการทำกฎหมายนี้ขึ้นมาก็จะเป็นการแสดงท่าทีจริงจังต่อการปราบทุจริต
ด้าน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาทุจริตอย่างจริงจังและได้ผล ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติและต้องให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ รวมถึงให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการอนุมัติ และอนุญาต ขณะเดียวกัน ห้ามนำคนในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ เพราะอาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการเป็นอิสระในการพิจารณาคดีความเมื่อมีการร้องเรียนคดีทุจริตภายในองค์กร นอกจากนี้ ต้องกำหนดประเด็นการป้องกันทุจริตในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหัชัดเจน ขณะที่กระทรวงการคลังควรตรากฎหมายที่ว่าด้วยองค์กรอิสระ เพราะปัจจุบันต่างคนต่างทำ แต่ละองค์กรต่างมีกฎหมายของตัวเองเมื่ิอมีปัญหาเกิดขึ้นจึงก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้ได้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ดีกว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลัง อาทิพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2558 มาตรา 123/5 วรรคสอง ที่ระบุว่าบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีความผิดและระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าเสียหายหรือประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงมาตรา 103/6 ที่ให้กันผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นพยานได้
...
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี