+++คดียาเสพติดที่พัวพันกับหลายฝ่ายที่เจ้าหน้าที่กำลังขยายผล เครือข่ายของนายไซซะนะ แก้วพิมพา ชาวสปป.ลาว นักค้ายาเสพติดรายใหญ่ระดับอาเซียน ที่ถูกตำรวจจับกุมได้ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส. เปิดเผยว่า คนร้ายจะใช้เส้นทาง จ.นครพนม มีการนัดรับยาที่ริมแม่น้ำโขง โดยผู้ต้องหากลุ่มนี้จะพักห่างจากจุดพักยาประมาณ 50 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการจับกุม สิ่งสำคัญจะรู้ความเคลื่อนไหวของตำรวจท้องที่ หากมีการกวาดล้างจับกุมจะหยุดดำเนินการ ทั้งนี้ จากการสอบปากคำผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่ามีบุคคลในวงการบันเทิง กลุ่มบุคคลไฮโซที่มีชื่อเสียง และวงการรถหรู มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลทรัพย์สินของเครือข่ายนายไซซะนะ ทั้งนี้ จากการขยายผลทราบว่าทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนายไซซะนะ จะเช่าบ้านที่อยู่ในสวนห่างไกลผู้คนเป็นที่พักทรัพย์สิน
+++เครือข่ายของนายไซซะนะ จากแนวทางการสืบสวนพบว่ามีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณกว่า 100 เครือข่าย โดยบางกลุ่มหันมาผลิตยาเอง แต่ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะส่งออกนอกประเทศเทียบเท่านายไซซะนะ ส่วนความคืบหน้า เจ้าหน้าที่ ปส. ปปส. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่ 05.00 น.เปิดปฎิบัติการ ชัยยะ สยบไพรี 60/2 ยึดทรัพย์สินเพิ่มเติม และจะมีแถลงรายละเอียดเพิ่มเติม 11.00น.
+++นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผย การดำเนินการของ ศอตช.ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พัวพันการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษ ว่า ศอตช.จะเป็นหน่วยงาน ประสานงานติดตามและขับเคลื่อน รวมถึงให้แนวทางในการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบให้สามารถดำเนินการไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ ศอตช.ทำอยู่ตอนนี้คือประสานงานกับหน่วยตรวจสอบกลาง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปปง. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งได้มอบหมายให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอตช. ติดตามประสานงานในเรื่องนี้
+++นายประยงค์ ระบุว่า อยู่ระหว่างประสานกันถึงวันในการประชุม คาดว่า จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันได้ภายในสัปดาห์หน้า นอกจากเรื่องสินบนโรลซ์-รอยส์แล้ว คงจะมีการหารือถึงทิศทางการทำงานและแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานใน ศอตช.ด้วย
+++มีกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียว่าได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ในรัชกาลที่ 10 และได้นำฎีกาไปถวายเรียบร้อยแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่เป็นความจริง ไม่ได้นำอะไรไปให้ใครที่ไหนทั้งสิ้น มีการระบุชื่อตัวเองไปด้วยก็ขอปฏิเสธ ไม่ได้นำฎีกาไปถวาย ยังไม่มีขั้นตอนนั้นอยู่เลย ส่วนกรณีมีกระแสข่าวแพร่สะพัดเจ้าอาวาสวัดราชบพิธได้รับตำแหน่งสังฆราชไม่ทราบ
+++นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับทราบข่าวดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ดูรายละเอียด และยังไม่ทราบเรื่อง ใครเป็นคนปล่อยข่าวออกมาก็ให้ไปว่ากัน
+++ความคืบหน้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ นายวิษณุ กล่าวว่า ตามกรอบระยะเวลา 30 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เสร็จแน่ ไม่ทันไม่ได้ ขณะนี้ใกล้จบการพิจารณาแล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะเผื่ออาจต้องกลับมาดูและเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน
+++พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ การออกกฎหมาย เพื่อทำการปฏิรูปให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้โดยเร็วในระยะเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมดคือ 20 ปีข้างหน้า แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญขณะนี้ คือ 1 ปีจากนี้ ในปี 2560 จะต้องรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะจากรัฐบาล คสช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) ทั้งกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก ในกิจกรรมทั้งหมดของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น กลัวว่าเราจะเหนื่อยเปล่า ถ้าสังคมไม่เข้าใจ แล้วจะขัดแย้งไปทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือทำแล้ว ทำไม่ได้ ยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อทอดเวลาอยู่ต่อ
+++นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) กล่าวว่า ภารกิจของ สนช.ที่เหลือตามโรดแมปของ คสช.คืองานนิติบัญญัติต้องพิจารณากฎหมาย 3 แหล่ง คือ 1.กฎหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับประชามติกำหนด 2.กฎหมายที่มาจากรัฐบาล และ 3.กฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ สปท.เสนอ กฎหมายที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญกำหนด ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน จำนวน 10 ฉบับ ในจำนวนดังกล่าวมี 4 ฉบับจำเป็นในการเลือกตั้ง และ สนช.ต้องทำกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ และยังมีกฎหมายอื่นประมาณ 5-6 ฉบับที่ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 1 ปี ส่วนกฎหมายจากรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ เป็นวาระเร่งด่วน เหลือประมาณ 30 ฉบับ และกฎหมายที่ สปท.เสนอ ป.ย.ป.จะต้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเพื่อทำกฎหมายนี้ให้ได้และเสนอให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง เช่น ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
+++สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรลงมติผ่านขั้นตอนแรกของร่างกฎหมายเพื่อให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์เริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ตามมาตรา 50 ในสนธิสัญญาลิสบอน ของอียู ซึ่งคาดว่ากระบวนการเจรจาทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร หรือสภาล่าง ลงมติด้วยคะแนนเสียง 498 ต่อ 114 เพื่อผ่านกฎหมายฉบับนี้ในขั้นตอนแรก แต่ในสัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หรือ สภาสูงลงมติรับรองเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ด้านพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้านมีมติไม่ให้สมาชิกพรรคขัดขวางการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ผ่านการลงประชามติแล้ว แต่เมื่อถึงช่วงที่ให้ลงมติก็ปรากฏว่ายังมีสมาชิกฝ่ายค้านที่ออกเสียงคัดค้านขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีเมย์กำลังเผชิญแรงกดดันให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว แต่เธอให้คำมั่นกับผู้นำอียูว่า จะสามารถเริ่มต้นกระบวนการตามมาตรา 50 ได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม
http://policenewsvarieties.com/