ผลสำรวจบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นไทย คาดศก.ปี2560ขยายตัวได้ เชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์จะกระเตื้องขึ้น

01 กุมภาพันธ์ 2560, 17:03น.


แนวโน้มทางเศรษฐกิจ นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย คาดการสภาพธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ. 2560 จะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยประมาณการดัชนีแนวโน้ม ค่า DI ที่ +15 หรือปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 35 จากปลายปี 2559  โดยอุตสาหกรรมการผลิตประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าติดลบสูงที่สุด แม้จะดีขึ้นกว่าปลายปีที่แล้ว จาก -12 มาเป็น -8 แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ที่ครบ 5 ปีของการถือครองรถตามนโยบายคันแรก อุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะมีการปรับตัวกระเตื้องขึ้นอย่างแน่นอน



ส่วนข้อเรียกร้องที่บริษัทส่วนใหญ่ลงความเห็นต่อรัฐบาลไทย ร้อยละ 56 ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ แต่ข้อเรียกร้องที่มีความเห็นน่าสนใจ โดยมีตัวเลขปรับขึ้นมาจากการสำรวจในครั้งก่อน คือ การส่งเสริมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ  ขึ้นจากอันดับ 14 เป็นอันดับ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านขึ้นจากอันดับ 13 เป็นอันดับ 9 และมาตรการการป้องกันเหตุอุทกภัยอย่างจริงจัง ขึ้นมาจากอันดับ 12 เป็นอันดับ 10 ผลการสำรวจในครั้งนี้ได้ส่งรายงานถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกคนได้ให้ความสนใจกับผลการสำรวจเกินความคาดหมายอย่างมาก โดยทางภาครัฐ มีความเห็นว่าหากสามารถดำเนินการแก้ไขในจุดใดที่บกพร่องได้ ก็จะเร่งดำเนินการและพร้อมให้ความร่วมมือปรับปรุงต่อไป



ส่วนความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ที่ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่มีการถามความเห็น จากบริษัท โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 44 ต้องการที่จะให้รัฐบาลไทยเข้าร่วม ซึ่งให้ความเห็นว่า ควรเข้าร่วม เนื่องจากเมื่อสำรวจข้อได้เปรียบหากประเทศไทยเข้าร่วม TPP แล้วต้นทุนลดลงจากการลดภาษีศุลกากรในประเทศไทย



ส่วนประเทศที่จะมีอนาคตที่สดใสในการส่งออกเป็นอันดับ 1 คือเวียดนาม ร้อยละ 45 รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซียอินเดีย พม่า และ ญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นประเทศที่คงอันดับเดิม จากการสำรวจใน 3 ครั้งที่ผ่านมา  ด้านการแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงขึ้น ยังคงเป็น ปัญหาอันดับ 1 ในด้านการบริหารธุรกิจ และแรงงานที่มีการขาดแคลนส่วนใหญ่ เป็นแรงงานด้านวิศวกร ถึงร้อยละ 48  ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 44 ขาดแคลนแรงงานวิศวกรเครื่องกล รองลงมาคือ วิศวกรควบคุมการผลิต และวิศวกรด้านงานวิจัยและพัฒนา



สำหรับการสำรวจมุมมองของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย จัดทำโดยคณะสำรวจเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย โดยผลตอบรับจากบริษัท ที่เป็นสมาชิก จำนวน 508 บริษัทระหว่างวันที่ 7 พ.ย.2559 - 6 ธ.ค.2559

ข่าวทั้งหมด

X