นายกฯไม่ยุ่งคำสั่งสหรัฐห้ามมุสลิม7ชาติเข้าปท. ชี้เตรียมรับมือ การค้ามากกว่า

31 มกราคม 2560, 16:25น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงนโยบายห้ามมุสลิมเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า นโยบายดังกล่าวมีผลกระทบอยู่บ้าง ในส่วนของมุสลิมที่ยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ เช่นเดียวกับตนเอง ที่ไม่สามารถเดินทางไปสหรัฐอเมริกาได้ เพราะไม่ได้มีการเชิญไป โดยขอว่า อย่านำปัญหาของต่างประเทศมาใส่ประเทศไทย  ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลก็ได้เตรียมการรองรับนโยบาย ทั้งเรื่องพันธะสัญญา ธุรกิจการค้าในระหว่างประเทศที่การเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ได้ไทยก็ต้องเพิ่มความสามารถทางการค้าภายใน ไม่ใช่พึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียว



ส่วนการลงโทษนายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังก่อเหตุขโมยภาพวาด 3 ภาพ ในโรงแรมที่ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลดูอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง   ดำเนินการ ที่จะต้องฟังเหตุผลว่า ทำไมขโมยภาพดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งของที่ไม่มีราคา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย และลงโทษต่อไป โดยบล่าสุด นายสุภัฒ ได้ทำหนังสือส่งถึงสื่อมวลชน แจ้งการลาออกจากราชการในวันนี้



สำหรับการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.วันนี้ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าไม่ได้มีการออกคำสั่งม.44 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้อติดขัดในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  แต่การเป็นการหารือถึงเรื่องความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจว่าขณะนี้ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และจะต้องดำเนินการอะไรอีกบ้าง เพื่อแก้ปัญหาที่มีการกล่าวหาว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง ที่จะต้องไปหารือกันต่อ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน พร้อมขอให้มองทั้งสองด้านว่ามีทั้งตำรวจดีและไม่ดี



นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีคำถามว่าภายใน 1 ปีจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมหรือไม่  นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลได้ทำงานในด้านปฏิรูปมาโดยตลอด และที่ตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ขึ้นมาเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปให้ได้ภายใน 1 ปีนี้ เพื่อให้รัฐบาลต่อไปมาสานต่อได้ แต่ยังไม่สามารถระบุว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ภายใน 1 ปี หรือไม่ เพราะในการทำงานมีอุปสรรคและปัญหาติดขัดหลายอย่าง อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็จะดำเนินงานต่อไปอย่างเต็มที่



ส่วนกระบวนการสามัคคีปรองดองก็จะมีการพูดคุยกันจนกว่าจะได้ข้อสรุป แต่ทุกอย่างก็จะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายเนื่องจาก การปรองดองไม่สามารถออกคำสั่งให้มาปรองดองกันได้ ส่วนที่จะเชิญฝ่ายการเมืองมาร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการปรองดองเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ซึ่งหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ข่าวทั้งหมด

X