สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ จำนวน 12 คน ในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินมากที่สุดคือ 1,315,494,304 บาท, นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม มีทรัพย์สิน 207,495,698 บาท, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีทรัพย์สิน 73,833,432 บาท, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม มีทรัพย์สินน้อยที่สุดคือ 25,674,156 บาท
โดยรัฐมนตรีใหม่ 4 คน ล้วนมีทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท ได้แก่ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สิน 244,596,466 บาท, นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ มีทรัพย์สิน 186,403,313 บาท, นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม มีทรัพย์สิน 149,248,389 บาท, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ มีทรัพย์สิน 113,165,080 บาท
ส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พ้นจากตำแหน่ง 3 ราย พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ มีทรัพย์สิน 120,337,583 บาท, พล.อ.ธีรชัย นาควานิช มีทรัพย์สิน 88,325,682 บาท, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มีทรัพย์สิน 23,442,833 บาท
กรณีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่ามีการจ่ายสินบนแก่บุคคลที่อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาในโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในรัฐสภาไทย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าได้รับรายงานแล้ว โดย มีการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกอนุมัติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 จำนวน 29 ล้านบาทเศษ และครั้งที่สอง อนุมัติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 26 ล้าน 9 แสนบาท ซึ่งเป็นการประมูลตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติตามที่เป็นข้อกล่าวหา จึงต้องให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องบุคคลที่แอบอ้างต่อไปด้วย ซึ่งถ้าพบการทุจริตจริงแล้วผู้กระทำผิดยังคงเป็นข้าราชการก็ต้องตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัย แต่หากพ้นตำแหน่ง หรือเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ต้องดำเนินคดี หากเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมกระทำการทุจริตก็ต้องเร่งส่งดำเนินคดีทางอาญา
ส่วนกรณีสินบนข้ามชาติ โรลส์รอยซ์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับหน้าที่ประสานขอข้อมูลจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามหลักการที่ว่าการขอข้อมูลต้องขอจากกระทรวงต่างประเทศในฐานะผู้ที่ดูแลความสัมพันธ์ หรือ การติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร ได้ประสานกับเอสเอฟโอ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว รวมทั้งการขอข้อมูลเรื่องการรับสินบนที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยด้วย
ส่วนการที่ สนช. ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา "ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ...." นายพรเพชร กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” ตอนหนึ่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนดไว้ว่า จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อกำหนดแนวทางนโยบายในการปฏิรูปและการปรองดอง และเมื่อทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องทำกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และเชื่อว่า ป.ย.ป.จะมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการชี้แจงที่สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป (อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สามารถให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเป็นไปตามข้อสังเกตของ อียู ในทุกด้าน โดยในปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคประมงผ่านศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) และระบบนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐ (MOU) รวม 343,511 คน แยกเป็น ประมง 78,290 คน และแปรรูปสัตว์น้ำ 265,221 คน
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีชายชุดดำที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี อายุ 48 ปี นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 27 ปี นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา อายุ 36 ปี นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ 48ปี และนางปุณิกา หรืออร ชูศรี อาย 42 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 - 5 ตามลำดับฐานกระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน และวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกให้ได้ ตาม พ ร.บ อาวุธปืน พ.ศ.2490กรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เวลากลางคืนจำเลยทั้งห้ากับพวก ร่วมกันมีอาวุธปืนปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33 หรือปืนอาก้า และเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทหาร ที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนตะนาว เขตพระนคร และบริเวณใกล้เคียงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายราย เหตุเกิดแขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม. ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุน ฯ พ.ศ. 2490 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์ คำเบิกความ และพยานหลักฐาน ที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ฟังได้ว่า นายกิตติศักดิ์ และนายปรีชา กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนนายรณฤทธิ์, นายชำนาญ และนางปุณิกา พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่ง ทนายความจะมีการยื่นอุทธรณ์คดี ของนายกิตติศักดิ์และนายปรีชาต่อไป
..