สหราชอาณาจักร,เยอรมนีและฝรั่งเศส ตำหนิคำสั่งห้ามมุสลิมเข้าสหรัฐฯของปธน.ทรัมป์

30 มกราคม 2560, 19:58น.


กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ลงนามฝ่ายบริหารเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ห้ามพลเมืองจากซีเรีย อิรัก อิหร่าน เยเมน ลิเบีย โซมาเลียและซูดานเข้าสหรัฐฯในอีก 90 วันข้างหน้านี้และระงับโครงการรับผู้อพยพทั้งหมดเป็นเวลา 120 วัน ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรและนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ประณามประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กรณีการออกคำสั่งระงับโครงการรับผู้อพยพทั้งหมดและห้ามพลเมืองมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯเป็นการชั่วคราว ระบุว่าเป็นเรื่องที่น่าตำหนิและโหดร้ายเกินไป



ด้านนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร ไม่ได้ประณามเรื่องนี้โดยตรง แต่สั่งการให้นายจอห์นสันและนายอัมเบอร์ รูดด์ ปลัดกระทรวงความมั่นคงภายใน ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของพลเมืองสหราชอาณาจักร



ด้านนายข่าน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นผู้วิจารณ์นโยบายของนายทรัมป์มาหลายครั้งระบุว่าแม้ว่าทุกประเทศมีสิทธิ์จะกำหนดนโยบายเข้าเมืองของตัวเอง แต่นโยบายใหม่ของนายทรัมป์ขัดแย้งกับหลักการเรื่องเสรีภาพและการเปิดใจกว้างซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯส่งเสริมมาตลอด ล่าสุดสาธารณชนในสหราชอาณาจักรร่วมลงชื่อผ่านระบบออนไลน์กว่า 1 ล้านชื่อ คัดค้านไม่ให้นายทรัมป์เยือนสหราชอาณาจักรในอนาคต สภาผู้แทนราษฏรสหราชอาณาจักรจะเปิดอภิปรายประเด็นนี้ในวันพรุ่งนี้ การวิจารณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพียง 2 วันหลังนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรพบปะนายทรัมป์อย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายชื่นชมสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองว่ามีความพิเศษอย่างยิ่ง



ด้านนายสเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามนั้นเช่นกัน ในการโทรศัพท์คุยกับนายทรัมป์เมื่อวันเสาร์ นางแมร์เคิล อธิบายถึงข้อผูกมัดของสหรัฐฯภายใต้สนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยเรื่องผู้อพยพ ระบุว่า ผู้นำเยอรมนีเสียใจที่ผู้นำสหรัฐฯตัดสินใจเช่นนั้น เพิ่มเติมว่านางแมร์เคิล เชื่อว่า การจำกัดสิทธิ์ของพลเมืองบางประเทศหรือสงสัยไปเองว่าพลเมืองกลุ่มนั้นมาจากประเทศที่เคยก่อการร้ายแล้วใช้มาตรการนี้เพื่อป้องปรามเหตุก่อการร้ายไม่น่าจะเป็นธรรมสำหรับพวกเขา



นางแมร์เคิล ก็ถูกสาธารณชนในเยอรมนีตรวจสอบในเรื่องนโยบายเปิดรับผู้อพยพเช่นกัน โดยเมื่อปี 2558 เยอรมนีรับผู้อพยพซีเรียกว่าหนึ่งล้านคน หลายคนวิจารณ์ว่าเกิดเหตุก่อการร้ายมาหลายครั้งนับแต่รัฐบาลรับผู้อพยพจำนวนมาก ด้านนายฌอง-มาร์ก เอโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ระบุว่าการเปิดบ้านต้อนรับผู้อพยพถือว่าเป็นภารกิจที่รัฐต้องทำเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคม ระบุว่า กลุ่มก่อการร้ายเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวสัญชาติและการกีดกันมุสลิมก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง



ทีมต่างประเทศ



 

ข่าวทั้งหมด

X