รฟม. พร้อมส่งงาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ

30 มกราคม 2560, 12:42น.


ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ในฐานะเป็นผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เร็วกว่าแผนงานถึงร้อยละ 2 และพร้อมที่จะส่งงาน ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นขั้นตอนทางเอกสาร คาดว่าจะสามารถส่งใบรับรองได้ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ และรอความชัดเจนจากกรุงเทพมหานครในการรับโอนหนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการเปิดเดินรถภายในเดือนธันวาคม 2561 แต่หากกรุงเทพมหานครยังไม่มีความพร้อม รฟม. ก็จะดำเนินการตามกระบวนการร่วมทุนต่อไป เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้กำหนด เนื่องจากโครงการนี้ไม่สามารถรอได้เพราะประชาชนรอที่จะใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก


 




 


ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการมีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทางระยะทาง 12 กิโลเมตรแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ บีทีเอส สถานีแบริ่ง-สุขุมวิท 107 ไปตามเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง แยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย ผ่านแยกศาลากลางสมุทรปราการ แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด และสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยมีสถานียกระดับทั้งหมด 9 สถานีได้แก่สถานีสำโรง, สถานีปู่เจ้าสมิงพราย, สถานีเอราวัณ, สถานีโรงเรียนนายเรือ, สถานีสมุทรปราการ, สถานีศรีนครินทร์, สถานีแพรกษา, สถานีสายลวดและสถานีเคหะสมุทรปราการ  นอกจากนี้ยังมี อาคารจอดรถอาคารจอดแล้วจรหนึ่งแห่งบริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่สามารถจอดรถได้ประมาณ 700 คัน และยังมีจุดเด่นโดยเฉพาะสถานีสำโรงซึ่งเป็นสถานีใหญ่ ซึ่งมีการออกแบบให้มีความพร้อมในการเดินรถไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อหรือแบบแยก 


 




 


เมื่อโครงการได้เปิดให้บริการคาดว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้มีความคล่องตัวมากขึ้นและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เข้าสู่ระบบไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ของรฟม. ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น


 




 


นายสุรเชษฐ์ ชี้แจงกรณี พื้นผิวถนน ที่ยังดูไม่เรียบร้อย ว่าเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการประสานงานร่วมกันระหว่าง รฟม. กรมทางหลวงและการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง จะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หาก รฟม. เร่งดำเนินการก็จะต้องมีการรื้อผิวถนนออกมาใหม่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้งบประมาณสูญเปล่าจึงชะลอการดำเนินงานในส่วนพื้นผิวจราจร ซึ่งเมื่อกฟน.และกรมทางหลวง ดำเนินการแล้วเสร็จ รฟม. ก็จะได้เร่งคืนผิวจราจรให้ทันที


...


ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี 
ข่าวทั้งหมด

X