ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีผลกระทบทำให้เงินทุนไหลออก แต่ยอมรับมีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อระบบของภาครัฐ และจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ปัญหาดังกล่าว ทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงบริษัทต่างชาติที่มีคุณภาพเข้ามาลงทุนในไทยและจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในปีนี้ นายวิรไท คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 เท่ากับปีก่อน และมีปัจจัยบวกมาจากส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น คาดว่า ปีนี้ทรงตัว หรือร้อยละ 0 ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่ติดลบร้อยละ 0.6 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากต่างประเทศทั้งในเรื่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) การเจรจาถอนตัวออกจากอียู ของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ตลอดจนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน และผลกระทบที่จีนจะได้รับจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องติดตาม คือ ความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และความชัดเจนของการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่ง ธปท.จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในทุกไตรมาส และจะติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดการเงินไทย ยังเผชิญความผัวผวนสูงตลอดทั้งปี โดยบางช่วงจะผันผวนรุนแรง เพราะนโยบายการเงินที่แตกต่างกันมาก ของประเทศขนาดใหญ่ ซึ่ง ธปท.พร้อมผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการคิด และดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป ปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 1.5
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มจะปรับขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลกระทบมายังดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยของไทยเห็นสัญญาณดอกเบี้ยพันธบัตรขยับขึ้นแล้ว ซึ่งธปท.ติดตามใกล้ชิดและชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะค่อยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง 4 เรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข คือ หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงโดยคนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย อายุต่ำกว่า 20 ปี เฉลี่ยคนละ 136,000 บาท โดยมีหนี้เสียสูงถึงร้อยละ 16.4 เรื่องที่สองคือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย ซึ่งอาจถูกซ้ำเติมมากขึ้นหากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำไปสู่การกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้ามีหลายรูปแบบ และมีผลกระทบต่อสินค้าแต่ละประเภทแตกต่างกัน ส่วนกรณีที่สหรัฐฯยกเลิกการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ยังไม่มีผลทันที เนื่องจาก ข้อตกลงทีพีพียังไม่ได้เริ่มใช้ และถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะเร่งข้อตกลงและความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น
ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่สาม คือการลงทุนภาคเอกชนที่ค่อนข้างอ่อนแอ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วง2-3 ปี ยังกระจุกตัวอยู่เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้น และเรื่องสุดท้ายคือการยกระดับศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพราะในขณะที่โลกมีการพัฒนาการอย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอี ลดลง สวนทางกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นเร็ว