กรณีการประสานขอข้อมูลจากสำนักงานปราบปรามการทุจริต ประเทศอังกฤษ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อขอข้อมูลกรณีบริษัทโรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนแก่อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ช่วงปี 2534-2548 วงเงิน 1,253 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้งพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวว่า คงกำหนดระยะเวลาไม่ได้ป.ป.ช.จะสรุปข้อเท็จจริง เพราะเป็นการประสานขอความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างประเทศ จึงไปกำหนดเวลาไม่ได้ แต่จะเร่งรัดสรุปข้อมูลให้เร็วที่สุด คงต้องรอดูข้อมูลจากต่างประเทศ และในส่วนของการบินไทยว่า การจัดซื้อดังกล่าวมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบให้เกิดความถูกต้อง ได้ให้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง
ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ได้ส่งอีเมลไปขอหลักฐานอย่างเป็นทางการจากทางการของประเทศอังกฤษ โดยขอรายชื่อคนไทยที่รับสินบน ตามที่มีการฟ้องในอังกฤษที่ศาลสั่งปรับบริษัทโรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและการบินไทยรวม 3 ครั้ง มูลค่า 1.3 พันล้านบาท เมื่อได้ปรากฏแล้วการบินไทยมีการจัดซื้อที่ทุจริต สตง.มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของบอร์ดการบินไทย และรวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้มีส่วนอยู่ในข่ายตัดสินใจหรือไม่ ในการเลือกใช้เครื่องยนต์จากบริษัทดังกล่าว โดยตรวจสอบบัญชีแบบสืบสวน หาหลักฐานเบิกจ่าย ตอนจัดซื้อจัดจ้าง ถึงแม้ว่าเรื่องนานแล้วไม่เป็นไร เพราะระดับผู้บริหารหน่วยงาน ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ต่อสังคม รวมทั้งด้านวินัยไม่มีหมดอายุความ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การจ่ายสินบนตั้งแต่ ปี 2534-2548 ยาวนานพอสมควร โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดให้การบินไทย ส่งหลักฐานให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน 30 วัน ซึ่งทางการบินไทย คงจะล่าช้าไม่ได้ และยืนยันว่าความผิดทางวินัยไม่มีอายุความ
แฟ้มภาพ