ปตท.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สินบนโรลส์-รอยส์/ปลัดกห.รับกำลังทาบบุคคลนั่งกก.ป.ย.ป./ผู้ว่าธปท.ตามติดนโยบายทรัมป์

20 มกราคม 2560, 12:10น.


ข่าวเที่ยงครึ่ง



++++กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 43-56นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ว่าขณะนี้ ปตท.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน โดยปตท. ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการกำกับดูแลกิจการที่ดี



++++พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้รอผลก่อนอย่าเพิ่งเชื่อข่าวลือต้องให้ฝ่ายบริหารได้สอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้างหากพบว่ามีความผิดก็ต้องว่าไปตามผิด นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานบอร์ดการบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.ได้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วคาดว่าภายใน 30 วันจะทราบผลคงต้องรอการรายงานต่อกระทรวงพลังงานเร็วๆ นี้ กรณีที่เกี่ยวข้องกับบมจ.ปตท.ที่มีการระบุพัวพันกับโรลส์รอยซ์ เอ็นเนอร์ยีฯ เป็นช่วงปี 2543-2556 โดยผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ ปตท.ในช่วงดังกล่าวตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ ) คาบเกี่ยว 4 คน ได้แก่ นายพละ สุขเวช นายวิเศษ จูภิบาล ,นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 



++++นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในกรณีโรลส์-รอยส์ติดสินบนว่า ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน และรอการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณาว่าจะมอบให้ดำเนินการอย่างไร ว่าจะให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหรือให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะต้องดูเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนจะมีการชี้แจงให้กับต่างประเทศเข้าใจธรรมาภิบาลของไทยอย่างไรนั้น จะต้องมีความชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้ข้อมูลตัวเลขในแต่ละที่ยังต่างกัน ส่วนภาพรวมจะกระทบต่อประเทศหรือไม่ นายดอน ระบุว่า อะไรที่ไม่ดีงามก็ไม่เป็นมงคลอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ากระจ่างชัดก็จะเป็นประโยชน์ แต่อาจจะไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหาก็ได้ ดังนั้นจึงต้องรอข้อมูลและการตรวจสอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ



+++การตั้งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการในการทาบทามตัวบุคคล ทั้งนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเข้ามาร่วมทำงาน โดยมีตนและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นผู้ร่วมรับฟัง และจะเร่งพิจารณาการสร้างความปรองดองภายใน 3 เดือน ก่อนที่จะส่งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมพิจารณาต่อไปคาดว่าจะได้บุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งเร็วๆ นี้ ส่วนแนวทางการทำความเข้าใจกับกลุ่มการเมืองนั้น เรายินดีรับฟังทุกกลุ่ม พร้อมทั้งย้ำว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และอยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้าร่วมมือกันพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องกลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเหมือนปี 2557 ตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล



+++ด้าน กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทางออกของความปรองดองในสังคมไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 เห็นด้วยว่าควรให้พรรคการเมืองและคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือทางออกโดยทำสัจจะวาจาร่วมกัน และให้ลงนามข้อตกลง (MOU) เป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความปรองดองให้แก่สังคม โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ประเทศจะเดินหน้าพัฒนาได้เร็วขึ้น (ร้อยละ 59.1) รองลงมาคือ จะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้เร็วยิ่งขึ้น (ร้อยละ 47.1) และจะได้มีหลักฐานชัดเจน ไม่มีใครกล้าละเมิดข้อตกลง (ร้อยละ 43.0) ขณะที่ร้อยละ 20.5 เห็นว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังไงก็กลับมาขัดแย้งอยู่ดี และร้อยละ 4.3 ไม่แน่ใจ  ร้อยละ 47.2 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ว่าการสร้างความปรองดองโดยการทำ MOU ในข้างต้นจะช่วยทำให้สังคมเลิกขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่ายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะที่ร้อยละ 43.8 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจส่วนข้อคำถามที่ว่า ม.44 ยังจำเป็นหรือไม่กับสังคมไทย หากรัฐบาลต้องการสร้างความสามัคคีปรองดอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 72.1 เห็นว่าจำเป็นอยู่ ขณะที่ร้อยละ 19.8 เห็นว่าไม่จำเป็นแล้ว ที่เหลือร้อยละ 8.1 ไม่แน่ใจสำหรับ การรีเซ็ตนักการเมืองในปัจจุบัน ให้เว้นวรรคการเมือง 1 สมัย เพื่อให้ผ่านข้อครหาที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง และให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน หากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.2 ระบุว่า “เห็นด้วย” ขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย” และร้อยละ 10.9 ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 57.9 อยากให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง ส่วนร้อยละ 35.9 อยากให้มีการเลือกตั้งเลยตามโรดแมปที่วางไว้ และเดินหน้าปฏิรูปต่อไปพร้อมๆ กัน ที่เหลือร้อยละ 6.2 ยังไม่แน่ใจ



++++เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 10 ในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย 2 ปาก คือนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายทศพล ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยินดีสนับสนุน คสช.และรัฐบาลออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ถ้าทุกอย่างเป็นประโยชน์กับประเทศ แต่ควรยึดหลักความเป็นกลางความเป็นธรรม และขอให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ต้องแน่ใจว่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเชื่อว่าหากคณะกรรมการ ป.ย.ป. จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธ เพราะทุกคนต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาจะต้องทราบถึงนิยามคำว่าปรองดองก่อน ทุกคนต้องยอมรับและได้รับความเป็นกลางไม่มีการเลือกปฏิบัติ เมื่อได้รับนิยามแล้วจึงจะพิจารณาที่กลไกปฏิบัติต่อไป



+++นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะติดตามใกล้ชิด เพื่อนำมาประเมินผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ จากคำประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องติดตามนโยบายกีดกันทางการค้า เพราะจะมีผลกระทบมาถึงประเทศคู่ค้าของไทย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และมีผลลบการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ส่วนนโยบายการลดภาษีของสหรัฐจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ทำให้เกิดภาวะการขาดดุลเพิ่มขึ้น ดังนั้น การกู้ยืมจากในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้น ซึ่งจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกและอัตราดอกเบี้ยของไทยด้วย ย้ำว่าภาคเอกชนต้องดูแลตัวเอง บริหารและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนด้วย . 

ข่าวทั้งหมด

X