การเดินหน้า โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพาณิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า การที่ กฟผ. นำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ ก็เพื่อช่วยให้ประเทศไม่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ สร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า และช่วยให้ค่าไฟฟ้ามีราคาไม่สูงมาก จึงไม่เป็นภาระกับประชาชน
ขณะที่ความ คืบหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพานั้น ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ยังอยู่ในช่วงชะลอการดำเนินงาน รวมทั้งชะลอการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม จนกว่าทางชุมชนในพื้นที่จะให้ความเห็นชอบ จึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) หลังส่งรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องมีการชี้แจงในบางประเด็นเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการทราบ คาดว่า รายการศึกษาผลกระทบนี้ จะได้รับการอนุมัติจากทางคณะกรรมการชำนาญการ ก่อนส่งให้หน่วยงานอื่นพิจารณาต่อไป
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับผิดชอบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในปี 2558-2579 นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะโครงการที่ต้องรับผิดชอบ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากทางภาคใต้มีการเติบโตของการใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 4.5-5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของประเทศ
นอกจากนี้พื้นที่ทางภาคใต้ยังมีกำลังการผลิตรวมที่ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ อีกทั้งที่ผ่านมามีไฟฟ้าจากทางภาคกลางเข้ามาเสริม แต่มีระยะไกล หากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เอง ก็จะช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ เนื่องจากทางภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโต จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง
สำหรับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในปี 2558-2579 (PDP 2015) นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในปี 2558-2579 นั้น จะเน้นการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า คู่กับการให้ความสำคัญเรื่องการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด พร้อมกับพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเดิม 513.91 เมกะวัตต์ เป็น 2,000.90 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 โดยเน้นการสร้างสมดุลการใช้เชื้อเพลิงเป็นส่วนสำคัญ